มวล.ดึงภาคี จัด

มวล.ดึงภาคี จัด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ คณะทำงานเอดส์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และโครงการองค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (โครงการ PATH) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การส่งเสริมเพศศึกษารอบด้านสำหรับเยาวชนในสถานศึกษาและชุมชน จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมลงนามความร่วมมือเรื่องดังกล่าวโดย นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา นครศรีธรรมราช ทั้ง 4 เขต เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 โรงแรมแกรนด์ปาร์ค จ.นครศรีธรรมราช นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า การลดปัญหาเรื่องเพศศึกษาและเรื่องผู้ติดเชื้อเอดส์นั้น จำเป็นต้องมีมาตรการให้ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสม โดยเน้นการกระจายความรู้ไปยังเยาวชนซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม แต่ผู้กระจายความรู้ก็ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสม และตรงตามความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นถือว่าเป็นเรื่องดีที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับคณะทำงานเอดส์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และองค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (PATH) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เพื่อหารูปแบบและกระบวนการกระจายความรู้ดังกล่าวไปยังกลุ่มเยาวชนได้อางถูกใจและนำไปสู่ความเข้าใจต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สายฝน เอกวรางกูร อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษารอบด้านสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นจากที่องค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (PATH) ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนโลกเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรค และมาเลเรีย (Global Fund) ผลักดันการดำเนินงานป้องกันเอดส์ของกลุ่มเยาวชนในระบบการศึกษาภายใต้ชื่อ โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ โดยดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม 2546-กันยายน 2551 และภายหลังสิ้นสุดแผนงานระยะที่ 1 พบว่าผลการดำเนินงานเป็นที่พอใจ ได้รับการตอบรับและเห็นการมีส่วนร่วมที่จะพัฒนาการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละหน่วยงาน จึงได้เกิดโครงการระยะที่ 2 ในครั้งนี้ขึ้น โดยมุ่งเน้นกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม การกระจายความเป็นเจ้าของงาน และการเสริมสร้างพลังอำนาจ มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนในระบบการศึกษาผ่านยุทธศาสตร์การทำงานเชิงระบบทั้งกับนโยบายสถานศึกษา ครู รวมทั้งผู้นำของภาคส่วนท้องถิ่นเพื่อให้มีบทบาทในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) ในเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสุขภาวะทางเพศให้กับเยาวชน รวมถึงการสร้างเยาวชนที่จะเติบโตอย่างมีความสุข สามารถใช้ชีวิตตามเพศวิถีของตนเองได้อย่างมีสุขภาวะ ส่วนนายวันชัย พงษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 กล่าวว่าปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาสังคมมีมากขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ทำให้เด็กเกิดการซึมซับเรียนรู้ ผู้ที่ทำงานด้านการศึกษาต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่จะทำงานด้านการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้เพราะมีปัญหาหลากหลายรูปแบบจึงจำเป็นต้องทำงานเป็นเครือข่าย ดังนั้นโครงการนี้ถือเป็นโครงการตัวอย่างที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเน้นความสำคัญอยู่ที่รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ต้องพัฒนารูปแบบไปตามสังคมโลกยุคปัจจุบัน จึงต้องมีการดำเนินงานในรูปแบบของเครือข่ายเครือข่าย ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราชยินดีร่วมมือเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ร่วมกันในอนาคต ประมวลภาพกิจกรรมได้ที่ http://dpr.wu.ac.th/photo/thumbnails.php?album=274
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook