ผู้บริหารมหา

ผู้บริหารมหา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐและในกำกับของรัฐ กว่า 150 คน เข้าร่วมสัมมนาเรื่อง แนวทางการวางระบบประเมินผลและการจัดสรรงบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทอมก.) และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจาก นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดการสัมมนา โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกล่าวรายงานและต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวเปิดและบรรยายในหัวข้อ นโยบายของรัฐในการสนับสนุนส่งเสริมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยมีใจความสำคัญว่า ขณะนี้ได้สั่งชะลอการนำร่างระเบียบฯดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากในระเบียบฯดังกล่าวคือที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรรมการประเมินผล จำนวน 9 คน โดยมาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัยถึง 6 คน ที่เหลื 3 คนเป็นตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ หน่วยงานละ 1 คน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากฝ่ายการเมือง จะทำให้คณะกรรมการนี้ควบคุมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐมากเกินไป นอกจากนี้หากร่างระเบียบดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และมีผลบังคับใช้ ก็จะเป็นตัวชี้อนาคตการจัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 13 แห่ง และหากระบบนี้ใช้ได้ผลก็จะมีการใช้ในมหาวิทยาลัยอื่นๆทั่วประเทศต่อไปด้วย จึงได้สั่งชะลอและยินดีรับฟังความคิดเห็นจากมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทั้ง 13 แห่งและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ก่อนนำเสนอครม.ต่อไป การสัมมนาดังกล่าว ยังมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ หลักการและแนวคิดในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีความเห็นว่า ระบบการประเมินผลมหาวิทยาลัยมีมากพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการมาประเมินอีก เป็นการประเมินที่ซ้ำซ้อนและซ้ำซาก อีกทั้งยังมีการเสวนาหัวข้อ หลักการประเมินผลและการจัดสรรงบประมาณ สู่ความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา โดย รศ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ สกอ. นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ และผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งจากในสังกัดของรัฐ และในกำกับของรัฐ อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมประชุมอีกด้วย รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะประธาน ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ กล่าวว่า ทอมก.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการหารือในวันที่ 13 ต.ค. นี้ โดยในเบื้องต้นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ ไม่เห็นด้วยกับร่างระเบียบดังกล่าว และเห็นว่าควรใช้กลไกที่มีอยู่เดิมเป็นผู้ดำเนินการคือ สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่หากจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ ก็ควรปรับสัดส่วนของผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ และทดลองใช้ระบบนี้ 3 ปี ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่า หากร่างดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในอนาคต งบประมาณอุดมศึกษา 3 หมื่นล้านบาทจะตกกับคนเพียง 9 คน และ 6 ใน 9 คน ก็มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายการเมือง ดังนั้นการจัดสรรงบฯ จะดีกว่าเก่าได้อย่างไร.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook