ม.วลัยลักษณ์ใช้ PBL ในการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

ม.วลัยลักษณ์ใช้ PBL ในการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การศึกษาเกี่ยวกับทักษะการตั้งคำถามในการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based Learning : PBL) ของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาโภชนาการและโภชนบำบัด พบว่า การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานเป็นวิธีการเรียนที่สามารถเพิ่มสมรรถนะการคิดวิเคราะห์และการตั้งคำถามการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี จึงควรสนับสนุนให้นำรูปแบบการเรียนการสอนที่ใช้ปัญหาเป็นฐานมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นาวาเอกหญิง ดร.ทัศน์ศรี เสมียนเพชร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกียรติกำจร กุศล อาจารย์สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับทักษะการตั้งคำถามในการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 จำนวน 38 คน เพื่อ ศึกษาระดับคำถามของสถานการณ์ปัญหาในรายวิชาโภชนการและโภชนบำบัดและศึกษาความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่กำหนดโดยผู้สอนกับระดับคำถามของผู้เรียนในการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน โดยรวบรวมข้อคำถามของนักศึกษาทั้งหมดจำนวน 909 ข้อ ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจำนวน 3 คนตรวจสอบและตัดสินระดับข้อคำถามแต่ละข้อตามแนวคิดทฤษฎีของ Bloom ซึ่งกำหนดไว้ 6 ระดับจากต่ำไปสูงคือ ความรู้ ความเข้าใจ และการประยุกต์ใช้ เป็นกลุ่มทักษะความสามารถตั้งคำถามการเรียนรู้ระดับต่ำ ส่วนการวิเคราะห์ การสังเคราะห์และการประเมินค่าเป็นทักษะความสามารถตั้งคำถามการเรียนรู้ระดับสูง และเปรียบเทียบความสอดคล้องของวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดโดยผู้สอนกับระดับคำถามการเรียนรู้ ของนักศึกษาในแต่ละสถานการณ์โจทย์ปัญหา ผลการศึกษาในภาพรวมพบว่า ระดับคำถามของนักศึกษาในสถานการณ์โจทย์ปัญหาการเรียนรู้อยู่ในระดับต่ำ มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 59.24 ระดับคำถามของนักศึกษาอยู่ในระดับสูง มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 40.75 อย่างไรก็ตามพบว่า ระดับคำถามของนักศึกษาที่อยู่ในระดับการวิเคราะห์สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับระดับอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 37.75 ซึ่งพบว่าระดับคำถามของนักศึกษาเพิ่มระดับความยากและซับซ้อนขึ้นเมื่อศึกษาสถานการณ์โจทย์ปัญหาจำนวนเพิ่มขึ้น และพบว่าวัตถุประสงค์ของสถานการณ์ปัญหาการเรียนรู้ที่กำหนดโดยผู้สอนมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูง ( r=.70 ) กับระดับการตั้งคำถามของนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ดังนั้นการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเป็นวิธีการเรียนที่สามารถเพิ่มสมรรถนะการคิดวิเคราะห์และการตั้งคำถามการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ เห็นควรส่งเสริมให้นำรูปแบบการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานมาเป็นแนวทางของการเรียนการสอนในการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ต่อไป อนึ่ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดการเรียนการสอน โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 ในรายวิชาต่างๆ อาทิสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ศิลปศาสตร์และสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ ในปีต่อๆมาได้มีการนำมาใช้ในสำนักวิชาสถาปัตยศาสตร์ เภสัชศาสตร์และแพทยศาสตร์ ตามลำดับนอกจากนี้ ได้มีการขยายผลสู่การศึกษาขั้นพื้นฐานโดยได้รับความร่วมมืออย่างดีกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียนให้แก่โรงเรียนในฝันสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1, 2, 3 และเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 อีกด้วย จากการนำรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานไปใช้กับนักเรียน ทำให้ครูและนักเรียนเกิดความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนการสอนข้อค้นพบจากการศึกษา พบว่าครูมีความเชื่อมั่นว่าการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานสามารถพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะกระบวนการเรียนรู้ทั้ง7 ขั้นตอน ได้ออกแบบการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้นักเรียนคิดอย่างเป็นระบบ ครูสามารถจัดทำคู่มือ พัฒนาโจทย์ปัญหาที่สามารถนำไปใช้จริง นักเรียนชอบและมีความสุขในการเรียน มีความกระตือรือร้น กล้าคิดกล้าแสดงออก สามารถทำงานเป็นทีม และต้องชื่นชมครูที่สามารถถ่ายโยงความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง สามารถขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook