ประกาศรายชื่อ 16 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ

ประกาศรายชื่อ 16 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ

ประกาศรายชื่อ 16 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซีเกท สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและเอไอที
ประกาศรายชื่อ 16 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ

บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่ง ประเทศไทยและภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ประกาศรายชื่อ 16 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ ที่ผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก โดยทุกทีมได้รับเงินสนับสนุนการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของรถจักรยานหุ่นยนต์จักรยาน ทีมละ 20,000 บาท เพื่อเข้าแข่งขันในรอบ ชิงชนะเลิศของการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ในวันที่ 5 สิงหาคม ศกนี้

การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นการแข่งขันออกแบบและพัฒนาจักรยานที่มีความสามารถในการรักษาสมดุลแบบสองล้อหน้าหลังได้ด้วยตัวเองโดยไม่ล้มไปด้านข้าง และสามารถวิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ ทีมที่สามารถวิ่งได้ระยะทางยาวที่สุดและเร็วที่สุดโดยอัตโนมัติจะเป็นผู้ชนะ

16 ทีมรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ได้แก่

1. ทีมเอ็กซ์-ไบค์ (Ex-Bike) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย วิ่งได้ 23.49 เมตร ทรงตัวได้ 600 วินาที คะแนนรวม 143.49 เมตร
2. ทีมไอราป ฟรีดอม (iRAP Freedom) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิ่งได้ 3.95 เมตร ทรงตัวได้ 293 วินาที คะแนนรวม 62.55 เมตร
3. ทีมเอสทีอาร์ไอ (STRI) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิ่งได้ 42.40 เมตร ทรงตัวได้ 15 วินาที คะแนนรวม 45.40 เมตร
4. ทีมเรียล (Real) จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิ่งได้ 17.28 เมตร ทรงตัวได้ 7 วินาที คะแนนรวม 18.68 เมตร
5. ทีมบรรเจิด (Banjerd) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร วิ่งได้ 15.71 เมตร ทรงตัวได้ 4 วินาที คะแนนรวม 16.51 เมตร
6. ทีมอันแมนน์ (Unmanned) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิ่งได้ 15.02 เมตร ทรงตัวได้ 5 วินาที คะแนนรวม 16.02 เมตร
7. ทีมบลู โลตัส (Blue-Lotus) จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิ่งได้ 14.76 เมตร ทรงตัวได้ 3 วินาที คะแนนรวม 15.36 เมตร
8. ทีมสลาลม (Slalom) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย วิ่งได้ 12.34 เมตร ทรงตัวได้ 6 วินาที คะแนนรวม 13.54 เมตร
9. ทีมซีอาร์วี ไบค์ (CRV Bike) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิ่งได้ 5.80 เมตร ทรงตัวได้ 4 วินาที คะแนนรวม 6.60 เมตร
10. ทีมเย็นตาโฟ (Yentafo) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิ่งได้ 4.45 เมตร ทรงตัวได้ 3 วินาที คะแนนรวม 5.05 เมตร
11. ทีมพลาญชัย โรบ็อต จากวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด วิ่งได้ 4.54 เมตร ทรงตัวได้ 1 วินาที คะแนนรวม 4.74 เมตร
12. ทีมเคบียู ไบซี่โรโบ (KBUBicyRobo) จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิ่งได้ 3.55 เมตร ทรงตัวได้ 3 วินาที คะแนนรวม 4.15 เมตร
13. ทีมบลู-บ็อต-เกรียน (Blue Bot Krian) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิ่งได้ 3.24 เมตร ทรงตัวได้ 2 วินาที คะแนนรวม 3.64 เมตร
14. ทีมคิโมจี้ (Kimochii) จาก สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น วิ่งได้ 3.16 เมตร ทรงตัวได้ 1 วินาที คะแนนรวม 3.36 เมตร
15. ทีมลองดู (Longdo) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิ่งได้ 2.55 เมตร ทรงตัวได้ 2 วินาที คะแนนรวม 2.95 เมตร
16. ทีมเทพเจ้าหมีแพนด้า (God of Panda) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิ่งได้ 2.74 เมตร ทรงตัวได้ 1 วินาที คะแนนรวม 2.94 เมตร

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธรรมชาติของเยาวชนซึ่งมีความสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับความสามารถในการทำงานเป็นทีม เป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการพัฒนาโซลูชั่นอันสร้างสรรค์สำหรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ การจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกในโลกนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญ ในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและวิศวกรรม การแข่งขันนี้ยังสนับสนุนโครงการยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ตามแผนแม่บทหุ่นยนต์แห่งชาติ โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไทยและระบบอัตโนมัติ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศในสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย ฝ่ายปฏิบัติการประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ซีเกทร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและเอไอทีเพื่อช่วย พัฒนาพื้นฐานการเป็นนักคิดนักประดิษฐ์ของเยาวชนไทย ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน บริษัทซีเกทได้เตรียมรางวัลเงินสดต่าง ๆ สำหรับผู้ชนะการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ ดังนึ้คือ รางวัลชนะเลิศ 150,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 100,000 บาท รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม 50,000 บาท และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ 50,000 บาท 16 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับได้รับเงินรางวัลทีมละ 20,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถจักรยานหุ่นยนต์เพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับนี้จะช่วยจุดประกายนิสิต นักศึกษาไทยให้มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และปรับใช้ความชำนาญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์

รองศาสตราจารย์ ดร.มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์จะเป็นการจัดขึ้นมาครั้งแรก แต่ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันถึง 25 ทีม จาก 17 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย แม้แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดังจากต่างประเทศ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Institute of Technology) ประเทศญี่ปุ่น ก็แสดงความสนใจในการแข่งขันนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในปีหน้าเราอาจจะขยายการแข่งขันให้เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติก็เป็นได้

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook