ร่วมเชียร์ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ไทย

ร่วมเชียร์ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ไทย

ร่วมเชียร์ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชิญชวนชาวไทยร่วมเชียร์ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ไทย
ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์โลก

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ขอเชิญชวนชาวไทยเป็นกำลังใจให้ ทีมเคเอ็มยูทีที (Team KMUTT) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์โลกหรือ โรโบคัพ ซอกเกอร์ ฮิวมานอยด์ ลีก (Robocup Soccer Humanoid League) ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 19-25 มิถุนายน ศกนี้

สมาชิกในทีมเคเอ็มยูทีที (Team KMUTT) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย จะเดินทางจากประเทศไทยเพื่อเข้าแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2010 ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับ ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทางของทีม และสมาชิกในทีมประกอบด้วยนายภาณุวัฒน์ สินศรานนท์ นายศุภชัย ไชยสงคราม นางสาวกอรุ้ง ศักดิ์ทวีกุลกิจและนายสุกฤต มโนคติไพศาล ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ กล่าวว่า "การที่ทีมเคเอ็มยูทีทีได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในระดับนานาชาติจะทำให้สมาชิกในทีมได้รับประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ จากการแลกเปลี่ยนทัศนะกับเพื่อนต่างชาติ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาและความก้าวหน้าของนักศึกษาเหล่านี้"

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์โลก 2010 นับว่าเป็นการแข่งขันที่ท้าทายมากที่สุดอันดับหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ เนื่องจากหุ่นยนต์ต้องมีความเป็นอัตโนมัติภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของขนาดและการทรงตัว นอกจากนี้ ยังต้องมีการทำงานแบบกระจายซึ่งหมายความว่าหุ่นยนต์แต่ละตัวจะต้องทำงานได้อย่างเป็นอิสระต่อกันโดยใช้หน่วยประมวลผลที่ตัวหุ่นยนต์เท่านั้น ไม่มีการใช้หน่วยประมวลผลกลาง การประมวลผลจากภาพก็ต้องทำภายในหุ่นยนต์ การติดต่อสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์สามารถทำได้โดยใช้ระบบเครือข่ายไร้สาย (wireless network)

ในการแข่งขัน ผู้เล่นในสนาม จะแบ่งออกเป็น 2 ทีม มีผู้เล่นทีมละ 3 ตัว โดยมี 1 ตัวเป็นผู้รักษาประตู การแข่งขันจะแบ่งเป็นสองครึ่งเวลา ครึ่งเวลาละ 10 นาที สนามถูกย่อขนาดลงเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดหุ่นยนต์เหลือ 4 x 6 เมตร และใช้ลูกเทนนิสสีส้มเป็นลูกฟุตบอลในการแข่งขัน ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน ในปีนี้ การจัดการแข่งขันฯ เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาไทยในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติและคัดเลือกทีมตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์โลก 2010 โดยเนคเทคและบริษัทซีเกท ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการจัดการแข่งขันภายในประเทศและการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนักวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th

เนคเทค

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นงานทางด้านการวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม (Research Development Design and Engineering : RDDE) ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของเนคเทค นอกเหลือไปจากภารกิจทางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนโยบาย กฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐานทาง ICT ซึ่งเนคเทคได้ดำเนินภารกิจหลักนี้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรในปี พ.ศ. 2529 มาจนถึงปัจจุบัน มีผลงานจากโครงการวิจัยต่าง ๆ นำไปถ่ายทอดให้กับผู้ใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.nectec.or.th

ซีเกท

ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูล ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.seagate.com
ลิขสิทธิ์ 2009 บริษัทซีเกท เทคโนโลยี แอลแอลซี สงวนลิขสิทธิ์ ซีเกท (Seagate) ซีเกท เทคโนโลยี (Seagate Technology) และโลโก้ (the Wave logo) เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของบริษัทซีเกท เทคโนโลยี แอลแอลซี ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือในประเทศอื่น เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของเจ้าของตามที่กล่าวมาข้างต้น

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook