รำลึก...กุหลาบ สายประดิษฐ์

รำลึก...กุหลาบ สายประดิษฐ์

รำลึก...กุหลาบ สายประดิษฐ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รำลึก...กุหลาบ สายประดิษฐ์

"...คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา..."...ทุกวันที่ 16 มิถุนายน ถือเป็นวันครบรอบการระลึกถึง "กุหลาบ สายประดิษฐ์" นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักมนุษยธรรม และนักต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงผู้หนึ่ง

"กุหลาบ"...เกิดในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชาวกรุงเทพฯ พ่อชื่อสุวรรณ เป็นเสมียนเอก ทำงานอยู่กรมรถไฟ แม่ชื่อสมบุญ เป็นชาวนาอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี นายสุวรรณกับนางสมบุญ ได้ให้กำเนิดบุตรสองคน คนโตเป็นหญิง ชื่อ จำรัส นิมาภาส (แต่งงานกับนายกุหลาบ นิมาภาส) ส่วนคนเล็กเป็นชาย ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สี่ชีวิตพ่อแม่ลูกได้แยกครอบครัวมาเช่าห้องแถวที่เป็นของพระยาสิงหเสนีอยู่ แถว ๆ หัวลำโพง

เมื่อกุหลาบมีอายุได้สี่ขวบ เขาได้เริ่มต้นเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนวัดหัว ลำโพง จนถึงชั้นประถม 4 นายสุวรรณได้ช่วยสอนหนังสือให้ลูกชายคนเดียวก่อนเข้าโรงเรียนด้วย แต่พ่อของกุหลาบอายุสั้น ป่วยเป็นไข้เสียชีวิตแต่เมื่ออายุเพียงแค่ 35 ปี ตอนนั้นกุหลาบเพิ่งอายุหกขวบ แม่และพี่สาวจึงได้เลี้ยงดูเขาต่อมา โดยแม่ได้รับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า และส่งพี่สาวไปฝึกเล่นละครรำ และละครร้อง เพื่อหาเงินมาช่วยจุนเจือและส่งเสียให้กุหลาบได้เรียนหนังสือโดยไม่ติดขัด

กล่าวคือเมื่อจบชั้นประถม 4 แม่ก็ได้เอากุหลาบไปฝากเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนทหารเด็ก ของกรมหลวงนครราชสีมา โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนประจำ สอนทั้งวิชาทั่วไปและวิชาทหาร กุหลาบได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้สองปี แม่ก็รู้สึกสงสาร เพราะเห็นว่าลูกชายต้องอยู่เวรยามแบบทหาร และเห็นว่าอยากให้กุหลาบได้เรียนวิชาทั่วไปมากกว่า ดังนั้นจึงเอาออกจากโรงเรียนทหาร ให้มาอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยเริ่มต้นเรียนในชั้นมัธยม 2 และได้เรียนเรื่อยมาจนจบชั้นมัธยม 8 เมื่อ พ.ศ. 2468

พ.ศ. 2465 อายุได้ 17 ปี เริ่มฝึกหัดการแต่งหนังสือ และทำหนังสือ โดยใช้พิมพ์ดีด

พ.ศ. 2466 อายุได้ 18 ปี เริ่มเขียนบทกวี และเขียนเรื่องจากภาพยนตร์ ส่งไปให้หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม ในช่วงนั้นใช้นามปากกา เช่น "ดาราลอย" "ส.ป.ด. กุหลาบ" "นางสาวโกสุมภ์" "หนูศรี" "ก. สายประดิษฐ์" "นายบำเรอ" และ "หมอต๋อง" เริ่มต้นใช้นามปากกา "ศรีบูรพา" เป็นครั้งแรก ในเขียนงานชื่อ แถลงการณ์ ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ทศวารบันเทิง ไม่ทราบเป็นงานเขียนประเภทใด ในปีนั้นได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่ โรงเรียนรวมการสอน และเป็นนักประพันธ์อยู่ใน สำนักรวมการแปล ของนายแตงโม จันทวิมพ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้มาฝึกการประพันธ์อยู่ที่ "สำนัก" นี้ ด้วยความมุ่งหวังอยากเรียนรู้ และหารายได้จากงานเขียนไปจุนเจือครอบครัว ที่มีฐานะค่อนข้างยากจน พร้อมกันนั้นก็ได้ชักชวนเพื่อนร่วมรุ่นอีกสองคน คือ ชะเอม อันตรเสน และ สนิท เจริญรัฐ ให้มาช่วยกันที่ สำนักรวมการแปล ด้วย

พ.ศ. 2467 อายุได้ 19 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยม 8 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ใช้นามจริงของตัวเองเป็นครั้งแรกในการเขียนกลอนหก ชื่อ "ต้องแจวเรือจ้าง" พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน ชื่อ แถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ หนังสือพิมพ์โรงเรียนเล่มนี้ มีหลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันท์) ซึ่งเป็นครูวิชาภาษาไทยของเขาเป็นบรรณาธิการ เป็น ในปีเดียวกัน กุหลาบก็เริ่มใช้นามปากกา "ศรีบูรพา" เขียนบทประพันธ์ขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

พ.ศ. 2468 อายุ 20 กุหลาบเรียนจบชั้นมัธยม 8 เริ่มชีวิตการเป็นบรรณาธิการครั้งแรกหนังสือรายทส(รายสิบวัน) ชื่อ สาส์นสหาย แต่ออกมาได้แค่7เล่ม ก็ต้องเลิกไป ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2468 กุหลาบได้เข้าทำงานที่กรมยุทธศึกษาฯ โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ โดยมีตำแหน่งเป็น "เจ้าพนักงานโรงวิทยาศาสตร์" ได้เงินเดือนเดือนละ 30 บาท การที่กุหลาบไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการที่ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เพราะสืบเนื่องมาจากเคยส่งเรื่องไปลงพิมพ์ที่นี่ จนเป็นที่พอใจของ พ.ท. พระพิสิษฐพจนาการ (ชื่น อินทรปาลิต) ผู้เป็นบรรณาธิการในขณะนั้น ซึ่งต้องการ "ผู้ช่วย" ที่มีความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปทำงาน

พ.ศ. 2469 อายุ 21 เริ่มเขียนงานประพันธ์อีกหลายชิ้น ได้ลงตีพิมพ์ที่ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ (รายเดือน) สมานมิตรบันเทิง (รายปักษ์) มหาวิทยาลัย (รายเดือน) สวนอักษร (รายปักษ์) สาราเกษม (รายปักษ์) ปราโมทย์นคร (รายสัปดาห์) ดรุณเกษม (รายปักษ์) เฉลิมเชาว์ (รายเดือน) วิทยาจารย ์(รายเดือน) ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ได้ไปช่วยเพื่อนทำหนังสือพิมพ์ ธงไทย รายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ ข่าวสด ซึ่งออกในงานรื่นเริงของโรงเรียนเทพศิรินทร์

ขณะที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ อยู่ประมาณสองปีเศษนั้น ได้มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ "Young กุหลาบ" ตัดสินใจเลิกคิดที่จะเอาดีทางรับราชการ และได้เบนชีวิตหันมาประกอบอาชีพนักเขียน นักหนังสือพิมพ์โดยอิสระเพียงอย่างเดียว โดยเป็นหนึ่งในคณะสุภาพบุรุษร่วม กับนักเขียนชื่อดังท่านอื่นๆ เช่น ยาขอบ ฮิวเมอริสต์ จัดทำหนังสือพิมพ์ชื่อ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ออกจำหน่ายทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการและเจ้าของ มียอดพิมพ์ครั้งแรก 2,000 เล่ม หนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ ฉบับสุดท้าย คือปีที่ 2 ฉบับที่ 37 วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 หลังจากนั้นตำนานแห่ง คณะสุภาพบุรุษ ยังคงมีสืบต่อมา แต่ทว่ามิได้เป็นไปในลักษณะของการจัดทำ Literary Magazine อีกต่อไป การยุติลงของ สุภาพบุรุษ

เมื่อ พ.ศ. 2495 ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือ "กบฏสันติภาพ" และได้รับนิรโทษกรรมใน พ.ศ. 2500 ในช่วงปลายชีวิตได้ลี้ภัยไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน

จนกระทั่งวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2517 กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตหัวใจตีบที่โรงพยาบาลเซียะเหอในปักกิ่ง อัฐิส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่สุสานปาเป่าซาน

ปี 2553 ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่เราต้องสูญเสียบุคคลสำคัญทางวงการวรรณกรรมก่อนวันครบรอบการเสียชีวิตของกุหลาบ นั่นก็คือ การเสียชีวิตนางชนิด สายประดิษฐ์ ภรรยาของกุหลาบด้วยวัย 98 ปี นางชนิด สายประดิษฐ์ เดิมชื่อ ชนิด ปริญชาญกล เกิดที่ย่านรองเมือง เป็นบุตรคนโตในจำนวน 6 คน ของขุนชาญรถกล กับนางเขียว ปริญชาญกล จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2477 ได้พบกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2475 และแต่งงานกันเมื่อ พ.ศ. 2478 มีบุตรสองคนคือ แพทย์หญิงสุรภิน สายประดิษฐ์ และ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์

ชนิด สายประดิษฐ์ เริ่มงานแปลหนังสือตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ ตีพิมพ์ใน "ประชาชาติ รายสัปดาห์" เรื่องแรกคือเรื่อง "ความรักของ เจน แอร์" ใช้นามปากกาว่า "จูเลียต" ซึ่งตั้งให้โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยตลอดชีวิตของศรีบูรพา ทั้งการเป็นนักเขียน นักคิด นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย นางชนิด สายประดิษฐ์ เป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากมาโดยตลอด ซึ่งนางชนิด สายประดิษฐ์ ได้เสียชีวิตในวันที่ 15 มิถุนายน ก่อนวันครบรอบการเสียชีวิตของกุหลาบเพียง 1 วันเท่านั้น

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก wikipedia

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook