QR-CODE สื่อยุคใหม่ที่น่าลอง

QR-CODE สื่อยุคใหม่ที่น่าลอง

QR-CODE สื่อยุคใหม่ที่น่าลอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นกระแสยอดฮิตไปแล้ว สำหรับ "QR-CODE" หรือที่ใครหลายต่อหลายคนรู้จักในนาม "บาร์โค้ด 2 มิติ" ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาอยู่ในบล็อกสี่เหลี่ยมสีขาวดำสลับกัน ดูแล้วยึกยือ ๆ ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมมากในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป

QR-CODE จะเห็นได้ตามนิตยสาร ป้ายโฆษณา หนังสือ แม้กระทั่งนามบัตร บาร์โค้ด 2 มิติ จะซ่อนรายละเอียดที่ต้องการแสดงเอาไว้ ดังนั้น ผู้ประกอบการบางรายจะทำลิงก์ไว้ภายในบาร์โค้ด 2 มิติ เพื่อให้เข้ายังเว็บไซต์ของบริษัทได้ทันที หรือมีกล้องโทรศัพท์มือถือก็ใช้ได้อย่างง่ายดาย

แต่โทรศัพท์มือถือที่จะสแกนได้ต้องมีสัญลักษณ์คิวอาร์โค้ดอยู่ ภายในตัวเครื่องด้วย จึงจะสามารถอ่านข้อมูลภายในบาร์โค้ดแบบนี้ได้

ภายในเจ้า QR-CODE จะมีข้อมูลมากมาย เช่น รายละเอียดสินค้า โปรโมชั่น สถานที่ตั้งของบริษัท ร้านค้า เว็บไซต์ เบอร์โทรศัพท์ และอีกมากมาย และมีลักษณะพิเศษที่ต่างออกไปตามชนิดของบาร์โค้ด อาทิ วงกลม สี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า

เจ้า QR-CODE สามารถบรรจุข้อมูลได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ประมาณ 4,000 ตัวอักษร และใช้ได้หลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาเกาหลี

ถือได้ว่าเป็นวิวัฒนการในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งอาจสร้างบาร์โค้ดเพื่อสื่อรัก โดยวิธีการง่ายแสนง่ายในยุคปัจจุบัน ทว่าในเมืองไทยการใช้งานบาร์โค้ด 2 มิติ ยังมีน้อยมาก แต่หากเจอคงต้องลองเอามือถือที่สแกนได้ไปอ่านบาร์โค้ต แล้วจะได้รู้ว่าไอ้ตัวที่ยึกยือ ๆ ในกรอบสี่เหลี่ยมเขาสื่อถึงอะไร

ย้อนอดีต บาร์โค้ด

"บาร์โค้ด" (barcode) เป็นหนึ่งในหลายวิธีที่ได้ผลดีในการตรวจสอบสินค้าขณะขาย, การตรวจสอบยอดการขาย และสินค้าคงคลัง เราสามารถที่จะอ่านรหัสบาร์โค้ดได้ โดยใช้สแกนเนอร์หรือเครื่องอ่านบาร์โค้ด ซึ่งวิธีนี้จะรวดเร็วกว่าการป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์หรือการอ่าน ด้วยสายตา บางครั้งเราจะเห็นเครื่องเหล่านี้ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งบางที่เราก็อาจจะคาดไม่ถึงว่าจะนำไปใช้ได้

แต่เดิมมีการใช้บาร์โค้ดในร้านขายของชำและตามปกหนังสือ ต่อมาพบในร้านอุปกรณ์ประกอบรถยนต์และร้านอุปโภคบริโภคทั่วไป ในแถบยุโรป รถบรรทุกทุกคัน ที่จะต้องวิ่งระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศเยอรมนี จะต้องใช้แถบรหัสบาร์โค้ดที่หน้าต่างทุกคัน เพื่อใช้ในการแสดงใบขับขี่ ใบอนุญาต และน้ำหนักรถบรรทุก แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถตรวจได้ง่ายและรวดเร็ว ในขณะที่รถลดความเร็ว เครื่องตรวจจะอ่านข้อมูลจากบาร์โค้ด และแสดงข้อมูลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทันที

ปัจจุบันวิวัฒนาการบาร์โค้ดจึงดูเหมือนว่า จะง่ายต่อการบรรจุข้อมูลที่ต้องการได้จำนวนที่มาก รวมถึงการนำเทคโนโลยี อาร์เอฟไอดี (RFID) ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อมูลผ่านทางคลื่นวิทยุ แทนที่เลเซอร์เหมือนบาร์โค้ดในปัจจุบัน ซึ่งการพัฒนา QR-CODE หรือ บาร์โค้ด 2 มิติ นี้จึงไม่น่าแปลกใจที่มันจะกลายเป็นความยอดฮิตในสังคม เพราะไม่ว่าคุณอยากจะรู้รายละเอียดมากแค่ไหน เพียงแค่พกมือถือที่สแกนได้ เพียงเท่านี้ทุกอย่างก็ง่ายดายจริง ๆ

เรื่องโดย : นายแคมปัส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook