มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (มกท.)

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (มกท.)

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (มกท.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Bangkok University (BU)

ก่อตั้ง : พ.ศ. 2505
ต้นไม้ประจำสถาบัน : ต้นชัยพฤกษ์
สีประจำสถาบัน : สีแสด-ม่วง
จำนวนคณะ : 9 คณะ 1 วิทยาลัย
จำนวนนักศึกษา : ประมาณ 28,598 คน
อัตราค่าเล่าเรียน : หน่วยกิตละ 1,400-3,000 บาท (แล้วแต่วิชา)
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ :
- วิทยาเขตกล้วยน้ำไท 119 ซอยสุขุมวิท 40 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โทร 0 2350 3500-99
- วิทยาเขตรังสิต 9/1 หมู่ 5 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทร 0 2902 0250-99
เว็บไซต์ : www.bu.ac.th

ประวัติ

มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ "มูลนิธิมหาวิทยาลัยกรุงเทพ" โดยได้เปิดดำเนินการสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของอาจารย์ สุรัตน์ และอาจารย์ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ ที่จะก่อตั้งสถาบันการศึกษาของเอกชนที่ไม่หวังค้ากำไร
มหาวิทยาลัยได้จัดการศึกษาโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ประกอบในการเรียนการสอน รวมทั้งได้ค้นคว้าทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ที่เหมาะสมมาสอดแทรกในวิชาเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้รับประโยชน์จากการเรียนอย่างเต็มที่ รวมทั้งสามารถนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติได้จริงในชีวิตการทำงาน
มหาวิทยาลัยมีด้วยกัน 2 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท และ วิทยาเขตรังสิต ที่กล้วยน้ำไท เป็นสถานที่เรียนของนักศึกษาปีที่ 3-4 ภาคปกติของคณะบัญชี คณะบริหารธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักศึกษาหลักสูตรต่อเนื่องของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติทุกชั้นปี นักศึกษาปริญญาโทและเอก และนักศึกษาภาคพิเศษ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ทำการของสำนักงานอธิการบดี วิทยาลัยนานาชาติ บัณฑิตวิทยาลัย สำนักหอสมุด ศูนย์คอมพิวเตอร์ และศูนย์กีฬาในร่ม
ส่วนที่รังสิต เป็นสถานที่ดำเนินการสอนนักศึกษาภาคปกติ ชั้นปีที่ 1-2 ภาคปกติของคณะบัญชี คณะบริหารธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี นักศึกษาทุกชั้นปีของคณะนิเทศศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ นักศึกษาหลักสูตรต่อเนื่องของคณะบัญชีและคณะบริหารธุรกิจ และยังเป็นสถานที่ตั้งของสนามกีฬามหาวิทยาลัยกรุงเทพ หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อาคารนิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ปองทิพย์โอสถานุเคราะห์ และพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยเครื่องถ้วยโบราณที่สำคัญและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สัญลักษณ์

"เพชรสีม่วงและสีแสด" ที่เปล่งประกายอยู่ภายในวงกลม แสดงถึง ความเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำซึ่งเป็นศูนย์รวมความรู้อันทรงคุณค่า และยังหมายถึง นักศึกษาที่มีคุณภาพโดดเด่นประดุจเพชรที่ได้รับการเจียระไนมาอย่างดีเยี่ยม
สีประจำสถาบันคือ "สีม่วง-แสด" ส่วนต้นไม้ประจำสถาบันคือ "ต้นชัยพฤกษ์"

มีอะไรเรียนบ้าง

1. คณะบัญชี (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต

2. คณะนิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต

3. คณะมนุษยศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
- ภาษาอังกฤษ
- ภาษาไทย
- การท่องเที่ยวและการโรงแรม
- ภาษาจีนเพื่อการท่องเที่ยวและการโรงแรม

4. คณะเศรษฐศาสตร์
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
- เศรษฐศาสตร์พัฒนา
- เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ
- เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ

5. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- วิทยาการคอมพิวเตอร์
- เทคโนโลยีสารสนเทศ
- วิศวกรรมซอฟต์แวร์
- การบริหารระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย (ต่อเนื่อง 2 ปี)
- การพัฒนาซอฟต์แวร์ (ต่อเนื่อง 2 ปี)
- เทคโนโลยีสารสนเทศ (ต่อเนื่อง 2 ปี)

6. คณะบริหารธุรกิจ
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
- การตลาด (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- การบริหารทรัพยากรมนุษย์
- การเงิน
- การจัดการธุรกิจสมัยใหม่ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- การจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ
- คอมพิวเตอร์ธุรกิจ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- การเป็นเจ้าของธุรกิจ

7. คณะนิเทศศาสตร์
หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต
- การประชาสัมพันธ์
- วารสารศาสตร์วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
- วารสารศาสตร์สิ่งพิมพ์
- การสร้างสรรค์งานโฆษณา
- การโฆษณาเชิงกลยุทธ์
- การแสดงและการกำกับการแสดง
- การเขียนบท
- วิทยุกระจายเสียง/วิทยุโทรทัศน์
- ภาพยนตร์
- การสื่อสารแบรนด์

8. คณะศิลปกรรมศาสตร์
หลักสูตรศิลปะบัณฑิต
- การออกแบบตกแต่งภายใน
- การออกแบบนิเทศศิลป์
- ทัศนศิลป์
- การออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ

9. คณะวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
- วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์
- วิศวกรรมไฟฟ้า
- วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
- วิศวกรรมมัลติมีเดียและระบบอินเทอร์เน็ต

10. วิทยาลัยนานาชาติ (International College - BUIC)
Bachelor of Business Administration in Marketing
Bachelor of Arts in Communication Arts
Bachelor of Arts in Business English
Bachelor of Arts in Hotel and Tourism Management
Bachelor of Business Administration in Entrepreneurship
Bachelor of Technology in Computer Graphics and Multimedia

ค่าใช้จ่าย

ในหลักสูตรปกติ ค่าเล่าเรียนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ค่าหน่วยกิตวิชา หน่วยกิตละ 1,400 บาท ค่าหน่วยกิตวิชาชีพ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ หน่วยกิตละ 1,700 บาท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1,700-3,000 บาท และค่าหน่วยกิตวิชาชีพศิลปะนิพนธ์หน่วยกิตละ 2,500 บาท ส่วนหลักสูตรนานาชาติจะคิดหน่วยกิตละ 2,000-3,000 บาท นอกจากนั้นก็จะเป็นค่าบำรุงปกติ ค่าบำรุงพิเศษ ค่าธรรมเนียมปกติ ค่าธรรมเนียมพิเศษ และหมวดอื่นๆ เช่น ค่าประกันความเสียหาย บัตรประจำตัวนักศึกษา ค่าใบรับรองผลการศึกษา เป็นต้น

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน

* สำนักหอสมุดกลาง มีหนังสือภาษาไทยและต่างประเทศ มากกว่า 400,000 เล่ม วารสารกว่า 40,000 เล่ม สื่อโสตทัศนวัสดุกว่า 15,000 รายการ และมีคอมพิวเตอร์เครือข่ายอินเทอร์เน็ตไว้บริการนักศึกษาจำนวน 200 เครื่อง เพื่อเปิดให้บริการตรวจสอบทะเบียนการยืม และการค้นคว้าหารายการหนังสือ วารสารและสิ่งพิมพ์ ตลอดจนสื่อโสตทัศนวัสดุ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต นักศึกษาที่สนใจสามารถใช้บริการได้ที่ http://Library.bu.ac.th
* ศูนย์คอมพิวเตอร์ ที่อาคาร 9 ชั้น 7 วิทยาเขตกล้วยน้ำไท และอาคาร 9 ชั้น 5 วิทยาเขตรังสิต จัดให้บริการข้อมุลการศึกษาออนไลน์ เพื่อความสะดวกรวดเร็วของนักศึกษาในการตรวจสอบข้อมูล อาทิ การลงทะเบียนเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต ตรวจสอบตางรางเรียนที่เปิดสอนและผลการสอบประจำภาคเรียน โดยนักศึกษาทุกคนจะได้รับ E-mail Account ของตัวเอง
* ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ (Fitness Center) และศูนย์กีฬาในร่ม มีให้บริการที่วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ส่วนที่วิทยาเขตรังสิต ได้จัดให้มี ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ (Fitness Center) และสนามกีฬากลางแจ้ง อาทิ สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล สนามตะกร้อ สนามวอลเลย์บอล และสนามเทนนิส
* ห้องปฏิบัติการเพื่อการศึกษา เช่น ที่คณะนิเทศศาสตร์ มีห้องปฎิบัติการภาพถ่าย ห้องตัดต่อเทปโทรทัศน์ ห้องเตรียมผลิตรายการ ห้องปฎิบัติการวารสารศาสตร์ โรงละคร ห้องปฏิบัติการกระจายเสียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาใช้ฝึกงานภาคปฏิบัติ หรือที่คณะนิติศาสตร์ ก็มีห้องฝึกงานศาลจำลองเลียนแบบตามสถานการณ์จริง เพื่อให้นักศึกษาคณะนิติศาสตร์มีโอกาสฝึกฝนทางด้านปฏิบัติการในศาล
* หอศิลปะ มหาวิทยาลัยกรุงเทพจัดให้มีการแสดงผลงานด้านศิลปกรรม 4-6ครั้งต่อปี โดยเปิดบริการให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 9.00-19.00 น. นักศึกษาที่สนใจสามารถติดต่อขอกำหนดการนิทรรศการและเข้าชมได้ที่ หอศิลปะ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาคาร 9 ชั้น 3 วิทยาเขตกล้วยน้ำไท
* บริการรถโดยสาร รับ-ส่งระหว่างวิทยาเขตกล้วยน้ำไทและวิทยาเขตรังสิต เพื่อความสะดวกและประหยัดในการเดินทางของนักศึกษาและบุคลากร
* บริการขอลดค่ารถไฟ นักศึกษาสามารถขอให้มหาวิทยาลัยออกหนังสือขอส่วนลดค่ารถไฟได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปทัศนศึกษาต่างจังหวัดเป็นหมู่คณะ หรือการเดินทางไปเยี่ยมผู้ปกครองที่ต่างจังหวัดได้
* บริการประกันอุบัติเหตุ มหาวิทยาลัยได้จัดให้นักศึกษาทำประกันอุบัติเหตุในอัตราดอกเบี้ยประกันต่ำ โดยนิสิตจะได้รับความคุ้มครองตลอด 24 ชม.
* บริการรักษาพยาบาล มีห้องปฐมพยาบาลให้นิสิตที่เจ็บป่วย โดยมีแพทย์และพยาบาลประจำ
* ห้องอาหาร มีโรงอาหารขนาดใหญ่ที่เปิดให้บริการ รวมถึงซุ้มอาหารที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆอย่างเพียงพอ และยังมีภัตตาคารสกายไลน์ ที่วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ดำเนินงานโดยนักศึกษาภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ไว้บริการผู้ที่สนใจอาหารนานาชาติ
* หอพักนักศึกษา ที่วิทยาเขตกล้วยน้ำไท ไม่มีหอพักใน ส่วนที่วิทยาเขตรังสิต เมื่อก่อนนักศึกษาจะนิยมเช่าอยู่ที่หอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ต่อมามีการสร้างอพาร์ทเมนท์สำหรับให้นักศึกษาเช่าในซอยข้างมหาวิทยาลัย ราคาประมาณ 3,000-4,000 บาท/ห้องต่อเดือน

ทุนการศึกษา

มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงการส่งเสริมพัฒนาด้านการศึกษาจึงได้จัดให้มีทุนการศึกษาและรางวัลหลากหลายประเภท ได้แก่
1. ทุนประกายเพชร เป็นทุนสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถโดดเด่นหรือผลการเรียนดี ความประพฤติดี เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี นักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับการยกเว้นค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมตลอดหลักสูตร
2. ทุนนักกีฬาดีเด่น สำหรับผู้ที่มีความสามารถด้านกีฬา แต่นิสิตที่ได้ทุนต้องเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ
3. ทุนนักศึกษาดีเด่น สำหรับนักศึกษาปี 3 ที่มีผลการเรียนดี ที่ประสงค์จะเป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาต่อปริญญาโททั้งภายในและภายนอกประเทศ
4. ทุนศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำหรับนิสิตที่มีผลการเรียนดี เพื่อศึกษาต่อปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งภายหลังเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ต้องกลับมาเป็นอาจารย์ประจำให้กับทางสถาบัน
5. รางวัลเรียนดี สำหรับนักศึกษาทุกชั้นปีที่สอบได้คะแนนสูงสุดในสาขาวิชาของแต่ละชั้นปี
นอกจากนี้ยังมีทุนฉุกเฉิน สำหรับนักศึกษาที่ประสบภัยพิบัติ หรือขาดผู้อุปการะทางการเงินอย่างกะทันหัน
มีทุนการศึกษาหลากหลายประเภท เช่น ทุนสำหรับนักศึกษาหรือบัณฑิตของมหาวิทยาลัยซึ่งมีผลการเรียนดี สามารถสอบแข่งขันชิงทุนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทั้งนี้ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ผู้รับทุนจะต้องเข้าปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นก็มี รางวัลเรียนดี ทุนฉุกเฉิน ทุนประกายเพชร ทุนพัฒนานักกีฬาดีเด่น และทุนนักศึกษาดีเด่น

ชีวิตนักศึกษา

นักศึกษาปริญญาตรีส่วนใหญ่จะเรียนกันอยู่ที่วิทยาเขตรังสิต และเนื่องจากที่วิทยาเขตรังสิตมีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมมากมายทำให้อาคารเรียนดูทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆครบครัน นักศึกษาที่นี่จึงมีกิจกรรมให้ทำตลอด ไม่ว่าจะเป็นจับกลุ่มนั่งคุยกันตามโต๊ะที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้ เข้าห้องสมุด เล่นอินเทอร์เน็ต หรือเล่นกีฬา แต่หากมีเวลาว่าง ก็จะนิยมไปเดินเล่นที่ Major รังสิต และฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต แต่ก็มีบางส่วนที่มาเรียนเสร็จก็กลับบ้าน
และนอกเหนือจากการส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถด้านวิชาการแล้ว มหาวิทยาลัยกรุงเทพยังสนับสนุนการทำกิจกรรมของนักศึกษาด้วย โดยจะแบ่งออกเป็น กิจกรรมชมรม และกิจกรรมคณะ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดตั้งในรูปแบบของโครงการ เช่น โครงการละครเวทีการกุศล โครงการให้คำแนะนำและปรึกษาด้านกฎหมาย โครงการฝึกงานภาคฤดูร้อนบริษัทจำลองรีจอยซ์ โครงการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ โครงการฝึกงานด้านบัญชี และโครงการอบรมสัมมนาผู้นำนักศึกษาประจำปี เป็นต้น

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook