มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.)

มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.)

มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Ramkhamhaeng University (RU)

ก่อตั้ง: พ.ศ. 2514
ต้นไม้ประจำสถาบัน: ต้นสุพรรณิการ์
สีประจำสถาบัน: สีน้ำเงิน - เหลือง
จำนวนคณะ: 10 คณะ 2 สถาบัน
จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 407,434 คน
อัตราค่าเล่าเรียน : หน่วยกิตละ 25-50 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์:
วิทยาเขตหัวหมาก (รามฯ 1) ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
โทรใ 0 2310 8000
วิทยาเขตบางนา (รามฯ 2) ถนนบางนา-ตราด เขตบางนา กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์: www.ru.ac.th, www.bangna.ru.ac.th

"ส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม"

ประวัติ
มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 บนเนื้อที่กว่า 300 ไร่ บริเวณรามคำแหง การก่อตั้งนี้มีเหตุผลมาจากปัญหาการขาดแคลนที่เรียนในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย เพราะมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสถานที่เรียนจำกัด ไม่สามารถรับผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ทั้งหมด จึงมีผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาแล้วไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อจำนวนมาก ดังนั้นพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบ "ตลาดวิชา" กล่าวคือ ให้เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักศึกษาโดยไม่จำกัดจำนวนและไม่มีการสอบคัดเลือก ทุกคนสามารถเข้ามาจับจ่ายหาความรู้อะไรก็ได้ตามที่ใจอยากจะเรียน ดังนั้นมหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงนับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ได้รับความนิยมที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

ด้วยปรัชญาที่ว่า "ส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม" มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีการพัฒนาตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านพัฒนาการวิชาการและพัฒนาสังคม โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในขณะเดียวกันก็พัฒนาไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ทางด้านเทคโนโลยี จนในปัจจุบันได้เปิดการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งเริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2538 กระจายสัญญาณผ่านดาวเทียมไทคมไปยัง 3 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ปราจีนบุรี และนครศรีธรรมราช นอกจากนั้นก็มีการเรียนการสอนแบบ e-learning การใช้คอมพิวเตอร์ในทุกระดับการเรียนการสอน จนมหาวิทยาลัยได้ก้าวสู่การเป็น e-University ในระดับมาตรฐานสากล

นอกจากจะมีวิทยาเขตในกรุงเทพฯ 2 แห่ง ทั้งที่หัวหมากและบางนาแล้ว มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังขยับขยายการให้บริการออกไปต่างจังหวัดในทุกภาคและทุกจังหวัดของประเทศ โดยใช้คณาจารย์จากในส่วนกลางทำการเรียนการสอนผ่านดาวเทียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไทยขยายออกสู่ภูมิภาคได้อย่างไร้ขีดจำกัด และเป็นการใช้คุณสมบัติของการเป็นมหาวิทยาลัยเปิดได้อย่างดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมก็ไม่สามารถทำได้กับทุกหลักสูตรสาขาวิชาเรียน อาทิเช่น หลักสูตรคณะศิลปกรรมศาสตร์ และหลักสูตรของสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่นักศึกษาต้องเข้าเรียนด้วยตนเองที่คณะและสถาบัน

สัญลักษณ์
"พ่อขุนรามคำแหง" เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอัจฉริยะภาพทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา และศิลปะวิยาต่างๆ ที่สำคัญยิ่งคือพระองค์ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1826 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอักษรไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
"ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง" หรือ จารึกหลักที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ค้นพบขณะที่ทรงผนวชศิลาจารึก นี้จารึกตัวอักษรด้านที่ 1-2 ด้านละ 35 บรรทัด ด้าน 3-4 ด้านละ 27 บรรทัด มีข้อความเกี่ยวกับประวัติของพ่อขุนรามคำแหง สภาพความเป็นอยู่ในสมัยสุโขทัยทั้งในด้านสังคม ศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การปกครอง และการค้าขาย

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือ "สุพรรณิการ์" หรือ "ฝ้ายคำ" ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2542 ขณะนี้ปลูกไว้บริเวณหน้าอาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
สีประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ "สีน้ำเงิน-เหลือง"

มีอะไรเรียนบ้าง
1. คณะนิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
2.คณะบริการธุรกิจ
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
การบริหารทั่วไป
การเงินและการธนาคาร
การตลาด
การบัญชี
การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์
การอุตสาหกรรม
การบริหารทรัพยากรมนุษย์
การประกันภัย
ธุรกิจระหว่างประเทศ
การท่องเที่ยว
การบริหารจัดการกอล์ฟ
3.คณะมนุษยศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
ภาษาอังกฤษ
ภาษาไทย
ประวัติศาสตร์
ภาษาฝรั่งเศส
ภาษาเยอรมัน
ปรัชญา
สื่อสารมวลชน
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
สารสนเทศศึกษา
ภาษาสเปน
ภาษารัสเซีย
จีนศึกษา
4.คณะศึกษาศาสตร์
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต
ภาษาไทย
ภาษาอังกฤษ
ประวัติศาสตร์
ภูมิศาสตร์
สังคมศึกษา
คณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์
วัดผลการศึกษา
เทคโนโลยีการศึกษา
พลศึกษา (สายเดียว)
พลศึกษา (วิชาโทอื่นๆ)
สุขศึกษา
ธุรกิจศึกษา
ภาษาฝรั่งเศส
ภาษาจีน
ศิลปศึกษา
การปฐมวัยศึกษา
การประถมศึกษา
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
คหกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาจิตวิทยา)
จิตวิทยาสังคม
จิตวิทยาการบริการปรึกษาและแนะแนว
จิตวิทยาคลินิกและชุมนุม
จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาภูมิศาสตร์)
แผนที่และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
ภูมิศาสตร์มนุษย์
ภูมิศาสตร์กายภาพและสิ่งแวดล้อม
5.คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
คณิตศาสตร์
สถิติศาสตร์
เคมี
ฟิสิกส์
ชีววิทยา
วิทยาการคอมพิวเตอร์
การวิจัยดำเนินงาน
เทคโนโลยีวัสดุ
เทคโนโลยีอาหาร
คณิตศาสตร์ทางด้านวิธีจัดหมู่ และการหาค่าเหมาะที่สุด
เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์
เทคโนโลยีชีวภาพ
วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยีการเกษตร
6.คณะรัฐศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
รัฐศาสตร์
สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
7.คณะเศรษฐศาสตร์
หลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม
เศรษฐศาสตร์การเงิน
เศรษฐศาสตร์การคลัง
เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ
เศรษฐศาสตร์การพัฒนา
เศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ
เศรษฐศาสตร์การเกษตร
เศรษฐศาสตร์เศรษฐกิจ
เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์
8.คณะวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมอุตสาหการ
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
วิศวกรรมการจัดการ
วิศวกรรมพลังงาน
9.คณะศิลปกรรมศาสตร์
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต
นาฏกรรมไทย
ดนตรีไทย
ดนตรีไทยสมัยนิยม
10. สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
แพทย์แผนไทย
หลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต
ทัศนมาตรศาสตร์
11. บัณฑิตวิทยาลัย
12. สถาบันการศึกษานานาชาติ

- Bachelor of Business Administration (Chinese Programme)
- Bachelor of Business Administration (English Programme)
- Bachelor of Arts in Mass Communication Technology
- Bachelor of Arts in English
ส่วนการศึกษาระดับปริญญาตรีในส่วนภูมิภาคเปิดสอนเพียง 4 คณะ 4 สาขาวิชา คือ
สาขาวิชานิติศาสตร์
สาขาวิชาบริการรัฐกิจ
สาขาวิชาบริหารทั่วไป
สาขาวิชาสื่อสารมวลชน

ค่าใช้จ่าย
ถูกมากเมื่อเทียบกับที่อื่น สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีส่วนกลาง หน่วยกิตละ 25 บาท ส่วนนักศึกษาส่วนภูมิภาคหน่วยกิตละ 50 บาท แต่ก็มีบางคณะ ได้แก่ หลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์ ของสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ คิดค่าใช้จ่ายหน่วยกิตละ 1,500 บาท คณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ใช้ระบบเหมาจ่ายภาคการศึกษาละประมาณ 16,100 บาท ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าขึ้นทะเบียนนักศึกษา ค่าลงทะเบียนเรียน ค่าบำรุงการศึกษา ค่าประกันของเสียหาย และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดแล้ว
สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- หอสมุดกลาง ให้บริการยืม-คืนหนังสือ สำหรับนิสิตไม่ต้องเสียค่าบริการ เพียงนำบัตรนักศึกษาไปแสดง แต่แนะนำให้น้องแต่งกายสุภาพ ไม่ใส่กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ เนื่องจากทางสำนักหอสมุดเข้มงวดกับการแต่งกายนักศึกษามาก
- ศูนย์หนังสือ มร. จำหน่ายตำราเรียน คู่มือตำราอ่านประกอบของมหาวิทยาลัยรามคำแหงทุกชั้นปี คู่มือการลงทะเบียนเรียน (มร. 36-37) รวมทั้งตำราฝากขายจากภายนอก อุปกรณ์เครื่องเขียนต่างๆ นอกจากนั้นก็ยังจำหน่ายกระดุม หัวเข็มขัด เข็มกลัดติดปกเสื้อ เข็มกลัดเสื้อที่มีสัญลักษณ์พ่อขุน สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อตำราทางไปรษณีย์ สามารถเช็คชื่อวิชาและราคาได้ที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัย
- มีบริการติวเตอร์มากมายหน้ารามฯ ซึ่งนักศึกษาบางคนไม่เคยมาเรียนเลย ใช้แต่วิธีติวเอาอย่างเดียวก่อนสอบก็ยังมี
- ศูนย์คอมพิวเตอร์ จะมี 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันคอมพิวเตอร์ อยู่ที่อาคารเวียงคำ มีเครื่องมากกว่า 100 เครื่อง สามารถพิมพ์งานได้มีบริการ printing ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าใช้ศูนย์ แต่อาจต้องเสียค่าบริการอื่นๆ ภายใน
- การสมัครเป็นนักศึกษา สามารถทำได้ 3 วิธี คือ การสมัครผ่านทางอินเทอร์เน็ต การสมัครผ่านทางไปรษณีย์ และการสมัครด้วยตนเอง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ru.ac.th/services/register/rubsamag.htm
- วิธีให้เลือกลงทะเบียนเรียน มีด้วยกันทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ การลงทะเบียนโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย การลงทะเบียนทางไปรษณีย์ การลงทะเบียนทางโทรศัพท์ การลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต และการลงทะเบียนผ่านทาง sms ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ru.ac.th/services/register/rubsamag.htm
- มีการให้ยืมอุปกรณ์กีฬาจากชมรมกีฬา และทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการก่อสร้างสำนักกีฬาใหม่ อุปกรณ์กีฬาจะทันสมัย มีห้องฟิตเนสให้นักศึกษาได้ใช้บริการ ไม่มีสระว่ายน้ำ แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยอยู่ติดกับการกีฬาแห่งประเทศไทย นักศึกษาจึงสามารถไปใช้บริการที่นั่นได้โดยเสียค่าบริการตามอัตราที่กำหนดไว้
- นักศึกษาสามารถเข้าห้องอ่านหนังสือติดแอร์ที่มีบริการอยู่ตามใต้ตึก หรือที่โต๊ะให้นั่งสำหรับอ่านหนังสือ
- โรงอาหารมีมากมายกระจายทั่วมหาวิทยาลัย แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเห็นจะเป็นที่โรงอาหารใหญ่ แต่หากวันไหนอากาศร้อนนักศึกษามักไปทานกันที่ ตึก NB10 หรือตึก KM หรือไม่ก็ตามคณะต่างๆ ที่มีโรงอาหารติดแอร์ เช่น ที่อาคารสุโขทัย

ทุนการศึกษา
มีทั้งของภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทุนการศึกษาภายใน มีดังนี้คือ ทุนผู้ประสบภัยพิบัติ ทุน มร. ประเภทกิจกรรม ทุนประเภทขัดสน ทุนประเภทเรียนดี และทุนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ส่วนทุนการศึกษาภายนอก ได้แก่ ทุนมูลนิธิ ซึ่งมีมูลนิธิต่างๆ ประมาณ 26 แห่งให้การสนับสนุน ทุนการศึกษาธนาคาร จากธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงเทพ และธนาคารแห่งอเมริกา ทุนการศึกษาบริษัทผู้มีจิตศรัทธา และทุนเงินฝากที่นำดอกผลมาจัดสรร นอกจากนี้ก็ยังมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาอีกด้วย

ชีวิตนักศึกษา
สังคมในรามฯ จะเป็นสังคมที่ไม่ค่อยมีรุ่นด้วยความที่มีคนเรียนเยอะมาก โดยเฉพาะจากต่างจังหวัด ทั้งภาคใต้ อีสาน เหนือ และกลาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าเป็นสมาชิกชมรมต่างๆ หรือนั่งรวมกันอยู่ตามซุ้มระหว่างรอเรียนหรือหลังเลิกเรียน ซึ่งก็จะมีซุ้มของแต่ละจังหวัด อาจเปรียบได้ว่ารามฯ เป็นประเทศหนึ่งที่มีทุกจังหวัด หรือบางคนก็คบกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่เรียนคณะเดียวกัน แต่ก็มีนักศึกษาอีกไม่น้อยที่กลับบ้านทันทีหลังเลิกเรียน อาจเพราะต้องการจบให้ได้ภายใน 4 ปี หรือไม่ก็ต้องรีบไปทำงาน เนื่องจากรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยเปิด เด็กบางคนจึงทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย การเรียนส่วนใหญ่จะไม่เช็คเวลาเรียน นักศึกษาจะเข้าเรียนหรือไม่ก็ได้ แต่ก็มีบางคณะบางหลักสูตรที่นักศึกษาต้องเข้าห้องปฎิบัติการ ลงภาคสนาม หรือทำรายงานส่ง

การเดินทางมายังมหาวิทยาลัยทั้งสองวิทยาเขต สามารถทำได้สะดวกสบาย เนื่องจากมีรถประจำทางผ่านหลายสาย คือที่ รามฯ1 (หัวหมาก) มีรถเมล์สาย 22, 60, 71, 93, 95, 122, 126, 137, 168, 501, 512 และรถ ปอ. สาย 22, 60, 71, 93, 95, 126, 137, 168, 501, 512, 520 ผ่าน ส่วนที่รามฯ 2 (บางนา) มีรถเมล์สาย 38, 46, 48, 139, 207,1141, 180, 182 และรถ ปอ. สาย 38, 139, 207 ผ่าน

ถึงแม้จะไม่มีหอพักภายใน แต่ก็มีหอพักอยู่รอบๆ มหาวิทยาลัยมากมายที่ได้รับรางวัลจาดสถาบัน เช่น หอพักหญิง เอ พี เฮ้าท์ หอพักหญิงนิรมล หอพักสตรี เอส เอ็น พี แมนชั่น 2 หอพักสตรีรุ่งศิริอพาร์ทเม้น หอพักสตรีรุ่งอรุณแมนชั่น หอพักสตรีบาลี หอพักสตรีดวงแก้ว หอพักสตรีโลตัสเฮ้าท์ หอพักสตรี เอ็ม เอ็น อาร์ แมนชั่น หอพักสตรี เอ วี วี คอร์ท หอพักสตรีซัน-แซน หอพักสตรี เอส จี อพาร์ทเม้น และหอพักชายวิชิตา 1

ส่วนใหญ่นิสิตรามฯ นิยมเดินช็อปปิ้งกันที่บริเวณหน้าราม.1 เพื่อหาซื้อของ ชุดนิสิตนักศึกษา รองเท้า กระเป๋า ซึ่งมีราคาถูกมาก หรือไม่ก็ไปเดินเล่น ดูหนัง กันที่เดอะมอลล์รามคำแหงและบางกะปิ บริเวณนี้ยังมีร้านอาหารอร่อยและราคาไม่แพงอยู่เป็นจำนวนมาก

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คือ อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง สังเกตว่าตอนใกล้สอบ พวงมาลัยจะเยอะมาก ของแก้บนที่สำคัญคือ หัวหมู หรือไม่ก็วิ่งแก้บน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook