มหาวิทยาลัยรังสิต

มหาวิทยาลัยรังสิต

มหาวิทยาลัยรังสิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Rangsit University (RSU)

ก่อตั้ง : พ.ศ. 2533
ต้นไม้ประจำสถาบัน : ต้นพะยอม
สีประจำสถาบัน : สีฟ้า-บานเย็น
จำนวนคณะ : 21 คณะ 5 วิทยาลัย 2 สถาบัน 1 โครงการ
จำนวนนักศึกษา : ประมาณ 17,853 คน
อัตราค่าเล่าเรียน : หน่วยกิตละ 1,000-2,600 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ :
- วิทยาเขตรังสิต 52/327 หมู่บ้านเมืองเอก ถนนพหลโยธิน ตำบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี
โทร 0 2997 2200-30
- ศูนย์ศึกษาวิภาวดี อาคารทีเอสที ทาวเวอร์ ชั้น 21-22 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร
กรุงเทพมหานคร
- ศูนย์ศึกษาสาทรธานี อาคารสาธร 1 ชั้น 7-8 ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์ : www.rsu.ac.th

ประวัติ

มหาวิทยาลัยนังสิตได้เริ่มดำเนินการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2529 ในนามของ "วิทยาลัยรังสิต" ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2533 ได้รับการเปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัย โดยตั้งอยู่บนเนื้อที่ 161 ไร่ บริเวณรอบข้างเป็นชุมชนเมืองเอก มีสภาพแวดล้อมดีเยี่ยม ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส เป็นต้น และเนื่องจากอยู่ไกลจากตัวเมือง มหาวิทยาลัยรังสิตจึงเป็นสถานที่เรียนที่มีอากาศบริสุทธิ์แจ่มใส

จุดมุ่งหมายของสถาบันคือ ต้องการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาที่ตรงกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การออกแบบ และการจัดการ เป็นสำคัญ รวมถึงวิชาชีพอิสระ ที่สามารถสร้างงานของตนเองได้ โดยมีการเปิดการเรียนในสาขาวิชาใหม่ๆที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังตระหนักดีว่า บัณฑิตทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะหรือความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการประกอบอาชีพโดยเฉพาะสำหรับระบบธุรกิจสมัยใหม่ อันได้แก่ ความรู้ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องเรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานและเน้นการเรียนการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษ

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตที่รังสิตและวิทยาเขตที่ถนนสาทร ในกรุงเทพฯ ซึ่งใช้สำหรับเป็นศูนย์ปฏิบัติการสำหรับนักศึกษาปริญญาโทและนักศึกษานานาชาติ คณะที่มีชื่อเสียง ได้แก่คณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยในการชนะประกวดหนังสั้นมาหลายปี

สัญลักษณ์

เครื่องหมายของมหาวิทยาลัยรังสิตประกอบด้วย "กลุ่มสามเหลี่ยม" หมายถึง ประชาชนทุกหมู่เหล่าที่รวมกันเป็นสังคม "ฟันเฟือง" หมายถึง พลังแห่งวิทยาการและเทคโนโลยีทุกแขนง "ดวงอาทิตย์ที่ส่องแสง" หมายถึงอำนาจ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรือง "ช่อชัยพฤกษ์" หมายถึง พลังแห่งคุณธรรมและสามัคคีธรรม และ "ปิ่น" หมายถึง เป้าหมายอันดีงามสูงสุดของสังคม รวมความหมายแล้วก็คือ ความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาการและเทคโนโลยีทุกแขนงของสังคมที่โอบอุ้มอยู่ด้วยพลังแห่งคุณธรรมและสามัคคีธรรม อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด

"เสือ" เป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยรังสิต และยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของทีมฟุตบอลของสถาบันอีกด้วย
ดอกไม้ประจำสถาบันคือ "ดอกพะยอม"

มีอะไรเรียนบ้าง

1. วิทยาลัยแพทยศาสตร์ (6 ปี)
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

2. คณะทันตแพทยศาสตร์ (6 ปี)
หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต

3. คณะเภสัชศาสตร์
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (5 ปี)

4. คณะพยาบาลศาสตร์
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต

5. คณะเทคนิคการแพทย์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

6. คณะกายภาพบำบัด
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

7. คณะการแพทย์แผนตะวันออก
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

8. คณะทัศนศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- สายตา

9. คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- วิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์
- อุปกรณ์ชีวการแพทย์ (ปกติ และต่อเนื่อง)
- เคมีประยุกต์

10. วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณพิต
- วิศวกรรมเครื่องกล
- วิศวกรรมไฟฟ้า
- วิศวกรรมโทรคมนาคม
- วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
- วิศวกรรมโยธา
- วิศวกรรมอุตสาหการ
- วิศวกรรมเคมี
- วิศวกรรมยานยนต์
- วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
- วิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน
- วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และชีวการแพทย์
- วิศวกรรมพลังงานทดแทน

11. สถาบันการบิน
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต
- นักบิน

12. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- วิทยาการคอมพิวเตอร์
- เทคโนโลยีสารสนเทศ
- คอมพิวเตอร์เกมส์มัลติมีเดีย
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต
- การจัดการสารสนเทศ
- เทคโนโลยีสารสนเทศวิทยาการบริการ

13. คณะเทคโนโลยีชีวภาพ
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- เทคโนโลยีอาหาร
- เทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม

14. คณะสถาปัตกรรมศาสตร์ (หลักสูตร 5 ปี)
หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต

15. คณะศิลปะและการออกแบบ
หลักสูตรศิลปะบัณฑิต
- ศิลปะภาพถ่าย
- ออกแบบภายใน
- ออกแบบนิเทศศิลป์
- ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
- คอมพิวเตอร์อาร์ต
- แฟชั่นดีไซน์

16. คณะบริหารธุรกิจ
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
- การจัดการ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- การเงินและการลงทุน (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- การจัดการอุตสาหกรรม (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- การตลาด (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- ระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- การจัดการทรัพยากรมนุษย์ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- การจัดการโลจิสติกส์
- การจัดการธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์

17. คณะบัญชี
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)

18. คณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
- การจัดการการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ
- การจัดการธุรกิจด้านการบิน

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
- การท่องเที่ยว
- การโรงแรมและการจัดการ

19. คณะเศรษศาสตร์
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต

20. คณะศิลปะศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
- ภาษาญี่ปุ่น
- ภาษาอังกฤษ
- ภาษาจีน
- ภาษาฝรั่งเศส
- ภาษาไทย
- อิสลามศึกษา

21. คณะนิเทศศาสตร์
หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต
- วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
- การประชาสัมพันธ์
- การโฆษณา
- วารสารศาสตร์
- ภาพยนตร์และวีดีทัศน์
- สื่อสารการแสดง
- สื่อสารการตลาด
- มัลติมีเดีย

22. คณะนิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต

23. คณะศึกษาศาสตร์ (ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)

24. วิทยาลัยดนตรี
หลักสูตรดนตรีบัณฑิต

25. วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
- ผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง

26. วิทยาลัยนานาชาติ
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
- ธุรกิจระหว่างประเทศ
- การจัดการการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ
- ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์
หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต
- นิเทศศาสตร์

27. โครงการร่วมนานาชาติ หลักสูตรบริหารธุรกิจ (CHN Rangsit University Thailand)
Bachelor in International Hospitally Management

28. สถาบันการทูตและการต่างประเทศ (ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)

29. บัณฑิตวิทยาลัย

ค่าใช้จ่าย

ค่าหน่วยกิตของแต่ละประเภทวิชา คณะวิทยาลัย และสาขาวิชาจะแตกต่างกันออกไป ได้แก่ กลุ่มวิชาทั่วไป คณิตศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์สุขภาพ อุปกรณ์ชีวการแพทย์ หน่วยกิตละ 1,000-1800 บาท วิทยาลัยแพทยศาสตร์ หน่วยกิตละ 5,000 บาท คณะเภสัชศาสตร์ และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หน่วยกิตละ 2,000 บาท คณะพยาบาลศาสตร์ 1,600 บาท คณะเทคนิคการแพทย์ คณะกายภาพบำบัด คณะการแพทย์แผนตะวันออก คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีชีวภาพ คณะศิลปกรรม คณะนิเทศศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ และวิทยาลัยนวัตกรรม หน่วยกิตละ 1,500 บาท วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ 1,800 บาท คณะนิติศาสตร์ 1,200 บาท วิทยาลัยดนตรี หน่วยกิตละ 2,600 บาท และหลักสูตรนานาชาติ 2,000 บาท ส่วนโครงการร่วมนานาชาติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 160,000 ต่อปี

นอกจากนั้นก็ยังมี ค่าบำรุงการศึกษาเทอมละ 5,000 บาท ค่าบำรุงห้องปฏิบัติการตั้งแต่ 1,000-10,000 บาทต่อวิชา บวกกับค่าประกันอุบัติเหตุและค่าธรรมเนียมต่างๆอีกนิดหน่อย

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน

* หอสมุดกลาง มีการจัดเตรียมห้องสมุดที่ได้มาตรฐาน มีหนังสือ วารสาร สื่อผสมต่างๆรวมทั้งซีดีรอม วีดิทัศน์ และบริการอินเทอร์เน็ต ที่นี่จะมีหนังสือใหม่ตลอดเวลา โดยมีการแสดงหนังสือใหม่ๆทุกสัปดาห์ โดยจัดแยกตามสาขาวิชา ส่วนหนังสือเก่ามหาวิทยาลัยจะเอาไปมอบให้แก่ห้องสมุดโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากนี้ ที่ห้องสมุดยังมีห้องสำหรับดูหนังฟังเพลง
* ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ศูนย์คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ ให้บริการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แก่นักศึกษาและอาจารย์ในงานที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ กระจายอยู่ตามอาคารต่างๆ เช่น ที่อาคารประสิทธิรัตน์ อาคารอุไรรัตน์ และอาคารวิษณุรัตน์ ปัจจุบันมีคอมพิวเตอร์ภายในมหาวิทยาลัย ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตมากกว่า 2,000 เครื่อง และยังสามารถใช้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยเพราะทุกห้องจะมีจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้ 2 จุด
* สันทนาการ มีสนามฟุตบอล บาสเกตบอล กรีฑาลู่และลาน ฯลฯ เพื่อให้นักศึกษาได้เลือกตามความถนัดและความสนใจ
* ศูนย์หนังสือ ตั้งอยู่ชั้น 2 ของอาคารประสิทธิ์พัฒนา จัดจำหน่ายตำราเรียน ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมถึงเอกสารและอุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องเขียน ของที่ระลึก ตรามหาวิทยาลัย เครื่องแต่งกายนักศึกษา ชุดครุยอาจารย์และนักศึกษา ถ่ายรูป คอมพิวเตอร์-อินเทอร์เน็ต และสิ่งต่างๆ อีกมากมาย
* ในมหาวิทยาลัยมีโรงอาหาร 2 ที่ ได้แก่ ที่ซุ้มดอกเห็ด มีร้านประมาณ 30 ร้าน ส่วนที่อาคารหอพัก จะมีห้องอาหาร เอ-เทรี่ยม ติดแอร์ มีอาหารบุฟเฟต์ช่วงกลางวันด้วย ราคาประมาณ 59-69 บาท
* หอพักนักศึกษา เป็นอาคารสูง 12 ชั้น มีทั้งหมด 4 อาคาร แบ่งเป็น หอพักหญิง 3 อาคาร (8A-8C) และหอพักชาย 1 อาคาร (8D) มีอาคาร 2 ชั้น เชื่อมต่อกันระหว่างอาคาร ชั้นล่างของอาคารเป็นที่ตั้งของห้องอาหาร ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านสะดวกซื้อซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ร้านซักอบรีด ร้านค้าสวัสดิการของมหาวิทยาลัยจำหน่ายสิ่งของเครื่องใช้ ที่ทำการไปรษณีย์ และลานสำหรับนั่งพักผ่อน ส่วนชั้น 2 เป็นที่ตั้งของศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยรังสิต ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สำนักงานกิจการนักศึกษา สำนักงานหอพัก ห้องเรียนรวม ซึ่งรองรับนักศึกษาได้ 600 คน ห้องละหมาด และห้องปฏิบัติธรรม

ทุนการศึกษา

ในการเรียนระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรังสิตได้จัดสรรทุนการศึกษาไว้ให้ 3 ประเภท ได้แก่
1. ทุนเรียนดี เช่น ทุนเรียนดี ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ และทุนโครงการสู่มหาวิทยาลัยในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นต้น
2. ทุนพระราชทาน เช่น ทุนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทุนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทุนในพระนามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้น
3. ทุนความสามารถพิเศษ ได้แก่ ทุนความสามารถพิเศษทางด้านกีฬา ศิลปวัฒนธรรม การแสดง สิ่งประดิษฐ์ และการดนตรี

ชีวิตนักศึกษา

เนื่องจากนักศึกษานิยมอยู่หอพักภายในมหาวิทยาลัย ทำให้ไม่ค่อยมีห้องว่าง ทางที่ดีนักศึกษาปี 1 ควรจะต้องจองหอก่อนเลยล่วงหน้า แต่หากหอในเต็มจริงๆ ทางมหาวิทยาลัยก็จะแนะนำหอเครือข่ายให้ โดยมีรถรับ-ส่งมายังมหาวิทยาลัยด้วย นอกจากหอในแล้ว หอเอกชนภายนอกก็เปิดให้บริการบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยประมาณ 20 หอ ราคาเดือนละ 3,500-4,000 บาท

มหาวิทยาลัยยังให้การสนับสนุนนักศึกษาในด้านการทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งด้านดนตรี กีฬา สันทนาการ และการบริหารชุมชน จึงได้จัดให้มีชมรมต่างๆกว่า 40 ชมรม ซึ่งมีทั้งชมรมที่มีชื่อเสียง แปลกและน่าสนใจ อาทิเช่น ชมรมเชียร์ลีดเดอร์ ชมรมอนุรักษ์นกลธรรมชาติ ชมรมนักออกแบบเพื่อชุมชน ชมรมนักศึกษาทุน ชมรมการ์ตูน ชมรมมวยสากล-มวยไทยสมัครเล่น ฯลฯ

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ "มณฑปพระศรีศาสดา" ตั้งอยู่ใจกลางมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมณฑปโถงจัตุรมุข รูปทรงตามแบบสถาปัตยกรรมไทย ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีแพรวพราวงดงามวิจิตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำลองพระศรีศาสดา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย มณฑปพระศรีศาสดานี้ เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาในบวรพุทธศาสนา และเป็นที่เคารพสักการะของคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ตลอดจนผู้เดินทางมาเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยรังสิตโดยทั่วไป มณฑปพระศรีศาสดาจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจและความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยรังสิตทุกคน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook