มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.)

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.)

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Huachiew Chalermprakiet University (HCU)

ก่อตั้ง : พ.ศ. 2533
ต้นไม้ประจำสถาบัน : ต้นโพธิ์
สีประจำสถาบัน : สีเหลือง
จำนวนคณะ : 13 คณะ
จำนวนนักศึกษา : ประมาณ 8,398 คน
อัตราค่าเล่าเรียน : หน่วยกิตละ 700-2,500 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ : 18/18 ถนนบางนา-ตราด กม. 18 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โทร. 0 2312 6300
เว็บไซต์ : www.hcu.ac.th

ประวัติ
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นโดย "มูลนิธิฮั้วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง" ซุ่งเป็นองค์กรการกุศลจีนที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทยและมีนโยบายอันแน่วแน่ที่จะส่งเสริมด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สถาบันมีประวัติในการจัดการศึกษามากว่า 50 ปี โดยมีพัฒนาการแบ่งได้ 3 ระยะคือ จัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัย ในปี 2484 ต่อมาในปี 2525 จึงขยายโรงพยาบาลหัวเฉียวเดิมให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไป และขยายโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัยให้เป็นวิทยาลัยพยาบาล โดยใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยหัวเฉียว" (คำว่า "หัวเฉียว" หมายถึง ชาวจีนโพ้นทะเล และเป็นชื่อที่มูลนิธิฯ อยู่แล้ว) พร้อมเปิดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เพิ่มอีกคณะหนึ่ง

จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นวาระที่มูลนิธิปอเต็กตึ๊งดำเนินการมาครบรอบ 80 ปี จึงได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมและขยายขอบข่ายงานด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ มูลนิธิปอเต็กตึ๊งจึงมีมติยกฐานะวิทยาลัยหัวเฉียวขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัย" และได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้งให้เป็นมหาวิทยาลัย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อ "มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ" เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 นับเป็นมงคลสูงสุดแก่สถาบัน และมีความหมายต่อชาวจีนที่เข้ามาอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารเป็นอย่างยิ่ง

สัญลักษณ์
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติจะเป็นรูปตัวอักษรจีนที่อ่านว่า "เสียง" มีความหมายว่า "คุณงามความดี" บริสุทธิคุณ และ การกระทำความดี"
สัญลักษณ์ของหัวเฉียวอีกอย่างหนึ่งคือ "ประติมากรรมรูปต้นโพธิ์ทอง" ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ ชื่อว่า "พระบรมโพธิสมภาร" สัญลักษณ์นี้เป็นตัวแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกป้องคุ้มครองให้ความร่มเย็นเป็นสุขต่อพสกนิกรชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย และเป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย

"ต้นโพธิ์" ยังถือเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แห่งรุ่งอรุณของความรู้แจ้งเห็นจริง อันนำความสว่าง สะอาด และสงบมาสู่โลก เพราะการตรัสรู้พระอนุตตร สัมมาสัมโพธิญาณกิตขึ้นภายใต้ต้นไม้นี้

มีอะไรเรียนบ้าง
1. คณะบริหารธุรกิจ

หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
หลักสูตรบริหารธุรกิจ
- การบัญชี
- การจัดการ
- การตลาด
- การเงิน
- ธุรกิจระหว่างประเทศ
- คอมพิวเตอร์ธุรกิจ
- การจัดการอุตสาหกรรม
International Programme
- Business Administration
หลักสูตรการจัดการบัณฑิต
- การบริหารจัดการโรงพยาบาล

2. คณะศิลปะศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
- ภาษาจีน
- ภาษาอังกฤษ
- การท่องเที่ยว
- ภาษาและวัฒนธรรมไทย
- ภาษาอังกฤษ-ไทย
- อุตสาหกรรมการบริการเพื่อการท่องเที่ยว
International Programme
- English-Chinese

3. คณะเภสัชศาสตร์
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต

4. คณะนิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต

5. คณะนิเทศศาสตร์
หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต
- ด้านวิทยุและโทรทัศน์
- ด้านการออกแบบนิเทศศิลป์
- ด้านการโฆษณาและสื่อสารการตลาด
- ด้านการประชาสัมพันธ์
- ด้านศิลปะการแสดง
- ด้านสื่อมัลติมีเดียและสื่อใหม่

6. คณะกายภาพบำบัด
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- กายภาพบำบัด

7. คณะพยาบาลศาสตร์
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต

8. คณะเทคนิคการแพทย์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- เทคนิคการแพทย์

9. คณะการแพทย์แผนจีน
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- การแพทย์แผนจีน

10. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- วิทยาการคอมพิวเตอร์
- จุลชีววิทยาอุตสาหกรรม

11.คณะสาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- อนามัยสิ่งแวดล้อม
- อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

12. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม
หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต

13. บัณฑิตวิทยาลัย

ค่าใช้จ่าย
ประมาณหน่วยกิตละ 700-2,500 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเรียนคณะอะไร และมีวิชาปฏิบัติหรือวิชาเฉพาะ (ซึ่งมักราคาสูงกว่า) มากน้อยแค่ไหน โดยประมาณค่าใช้จ่ายต่อภาคการศึกษาของคณะพยาบาลศาสตร์อยู่ที่ 39,050 บาท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 24,650 บาท คณะศิลปะศาสตร์ 17,970-27,670 บาท คณะบริหารธุรกิจ 22,950-25,750 บาท คณะสาธารณสุขศาสตร์ 23,950-34,050 บาท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 32,550-34,150 บาท คณะเภสัชศาสตร์ 31,050 บาท คณะเทคนิคการแพทย์ 35,850 บาท คณะกายภาพบำบัด 37,450 บาท คณะการแพทย์แผนจีน 42,400 บาท คณะนิติศาสตร์ 25,950 บาท คณะนิเทศศาสตร์ 31,250 บาท
ส่วนหลักสูตรนานาชาติ อยู่ที่ภาคการศึกษาละ 31,750-36,950 บาท

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
* หอสมุดกลาง เรียกว่า ศูนย์บรรณสาร เป็นอาคาร 6 ชั้น มีเนื้อที่ใช้สอยประมาณ 8600 ตารางเมตร ให้บริการสืบค้นข้อมูลของศูนย์บรรณสารสนเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ พื้นที่ให้บริการและค้นคว้าอยู่บนชั้น 6 ให้บริการหนังสือภาษาอังกฤษ มีที่นั่ง 150 ที่นั่ง และมีเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองประมาณ 100 เครื่อง โดยกระจายอยู่ตามชั้นต่างๆบนชั้น 5 ของอาคารเป็นส่วนของหนังสือภาษาจีนและห้องทรงพระอักษรของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ส่วนชั้น 2 เป็นชั้นสำหรับสื่อสารสนเทศ นักศึกษาสามารถเข้าไปดูหนังฟังเพลงที่เกี่ยวกับการเรียนได้
* ตึกคอมพิวเตอร์ มีคอมพิวเตอร์บริการทั้งหมดประมาณ 300 เครื่อง ชั้นล่างมีบริการอินเทอร์เน็ตให้แก่นักศึกษาด้วย
* คลินิกหัวเฉียว บริการตรวจและรักษาโรคให้แก่นักศึกษาและบุคคลทั่วไป
* โรงยิม มีบริการในระดับดี มีโต๊ะปิงปอง ห้องฟิตเนสติดแอร์ สนามบาส และสนามฟุตบอล
* มีโรงอาหารของมหาวิทยาลัย โดยมีร้านให้เลือกประมาณ 15 ร้าน
* หอพักนักศึกษา มีหอพักภายในมหาวิทยาลัยสำหรับชาย-หญิง 3 ตึก พักได้ห้องละ 3-4 คน เป็นแบบเตียงสองชั้น ไม่มีการบังคับให้นักศึกษาปี 1 ต้องอยู่หอใน อัตราค่าบำรุงหอพักอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,200 บาทต่อภาคการศึกษาปกติ และลดลงครึ่งหนึ่งในการเรียนภาคฤดูร้อน และอัตราค่าที่พักเป็นการชั่วคราวสำหรับนักศึกษา คิดคนละ 50-80 บาทต่อคืน

ทุนการศึกษา
ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. ทุนการศึกษาภายใน ได้แก่ ทุนส่งเสริมการศึกษา รางวัลกาญจนาภิเษก โครงการทุนการศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี มฉก. ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก และโครงการสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะการแพทย์แผนจีน สาขาวิชาการแพทย์แผนจีน
2. ทุนการศึกษาภายนอก เป็นทุนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากการบริจาคของบุคคลและมูลนิธิ หรือหน่วยงานอื่น

ชีวิตนักศึกษา
นักศึกษาที่ไม่ต้องการพักหอใน ก็สามารถหาที่พักที่มีอยู่ทั่วไปแถบประตูด้านรั้วเขียว (ด้านข้างฝั่งขวาของมหาวิทยาลัย) ได้ไม่ยาก หอพักบริเวณนี้นิยมมากเพราะนักศึกษาสามารถเดินเข้าออกมหาวิทยาลัยได้สะดวก ราคาก็ไม่แพงมาก คือประมาณ 2,000-4,000 บาทต่อเดือน

ถึงแม้จะไม่อยู่หอ การเดินทางไปเรียนก็ทำได้ค่อนข้างง่าย เพราะมหาวิทยาลัยติดถนนใหญ่ (บางนา-ตราด) มีรถตู้เอกชนวิ่ง สายหัวเฉียว-แยกบางนา-ซีคอนสแควร์ หรือ หัวเฉียว-เดอะมอลล์บางกะปิ หากไม่ชอบรถตู้ก็มีรถเมล์หลายสาย มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใกล้ๆชุมชน จึงมีความปลอดภัยสำหรับนักศึกษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook