มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น (มฟอ.)

มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น (มฟอ.)

มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น (มฟอ.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

The Far Eastern University (FEU)

ก่อตั้ง : พ.ศ. 2543
ต้นไม้ประจำสถาบัน : -
สีประจำสถาบัน : สีกรมท่า-เหลือง
จำนวนคณะ : 6 คณะ
จำนวนนักศึกษา : ไม่ทราบข้อมูล
อัตราค่าเล่าเรียน : หน่วยกิตละ 650-900 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ : 120 ถนนมหิดล ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 5320 1800-4
เว็บไซต์ : www.feu.ac.th

ประวัติ

มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์นเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งใหม่ในสังกัดงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (ทบวงมหาวิทยาลัย) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2542 และได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2544

มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์นจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้คนไทยมีการศึกษาที่สูงขึ้น มีความรู้ความสามารถในระดับสากลที่ทัดเทียมกับประเทศต่างๆ และก้าวทันเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นให้การศึกษาที่ก้าวทันต่อความก้าวหน้าเชิงธุรกิจ กอปรด้วยความรู้ทางการบริหารจัดการและเทคโนโลยี ทางมหาวิทยาลัยมีปณิธานและความมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาสำหรับนักศึกษาในสหัสวรรษใหม่ เพื่อพัฒนาพวกเขาเหล่านั้นให้มีจิตสำนึกแห่งความเป็นผู้ประกอบการ และสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต โดยอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกแห่งความเป็นไทย และยึดมั่นคำขวัญที่ว่า "เลิศคุณธรรม ล้ำปัญญา สร้างคุณค่าคนสมบูรณ์"

สัญลักษณ์

เครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัยเป็น "รูปคานรับน้ำหนัก" มีลูกตุ้มอยู่ตรงกลางบนคานและมีแกนหลัก 3 ประการที่ก่อให้เกิดดุลยภาพของการพัฒนาคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ดังนี้คือ เลิศคุณธรรม (Ethics) ล้ำปัญญา (Wisdom) และคนสมบูรณ์ (Wholeness) รูปคานนี้อยู่ภายในวงกลมชั้นใน ส่วนวงกลมชั้นนอก หมายถึง องค์ความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเสมือนเส้นวงกลมที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เฉกเช่นการพัฒนาคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์จะต้องพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ภายในวงกลมชั้นนอกนี้ ส่วนบนเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น ส่วนล่างเป็นปีที่ก่อตั้งคือ พ.ศ. 2543

สีประจำสถาบันคือ "สีกรมท่า" หมายถึง ความสุขุมลุ่มลึกทางปัญญา และสีเหลือง หมายถึง ความมีคุณธรรม จริยธรรม และความเจริญรุ่งเรือง

มิอะไรเรียนบ้าง

1. คณะบริหารธุรกิจ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
- บัญชี
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
- คอมพิวเตอร์ธุรกิจ
- การตลาด
- ผู้ประกอบการ
- จัดการการท่องเที่ยว
- จัดการอุตสาหกรรม

2. คณะศิลปะศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
- ภาษาอังกฤษธุรกิจ
- ภาษาจีนธุรกิจ
- ภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ
- ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)

3. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- เทคโนโลยีสารสนเทศ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

4. คณะบริหารรัฐกิจ
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
- รัฐประศาสนศาสตร์

5. คณะนิเทศศาสตร์
หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต
- การสื่อสารการตลาด (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)

6. บัณฑิตวิทยาลัย

ค่าใช้จ่าย

แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงการศึกษา และค่าธรรมเนียม โดยค่าเล่าเรียนหลักๆนั้นประกอบด้วย ค่าหน่วยกิต หน่วยกิตละ 650-900 บาท และค่าลงทะเบียนเรียน วิชาละ 100 บาท ค่าบำรุงการศึกษา ปีละ 6,100 บาท ค่าบำรุงอุปกรณ์การศึกษา หลักสูตรละ 1,000 บาท ค่าบำรุงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เทอมละ 1,200 บาท ค่าบำรุงห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ วิชาละ 1,000 บาท ค่าบำรุงห้องปฏิบัติการทางภาษา วิชาละ 500 บาท ค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนนักศึกษาครั้งแรกเมื่อรายงานตัวอีก 3,900 บาท นอกจากนี้ก็ยังมีค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน

* อาคารเรียนทันสมัย 5 ชั้น 2 อาคาร
* อาคารวัฒนาราชนครินทร์ 80
* อาคารหอประชุมขนาดใหญ่ความจุมากกว่า 700 ที่นั่ง
* ห้อง Auditorium ความจุ 300 ที่นั่ง
* ห้องโสตทัศนูปกรณ์ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และห้องปฏิบัติการทางภาษา
* สนามกีฬาอเนกประสงค์
* สวัสดิการด้านการพยาบาล และการประกันอุบัติเหตุ รวมทั้งมีการให้คำปรึกษาแนะแนวอาชีพและการศึกษาต่อ

ทุนการศึกษา

มีทุนการศึกษาหลายประเภท ได้แก่ ทุนพระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทุนจันทรปัญญา ทุนสุวรรณชิน ทุนนักกีฬาช้างเผือก ทุนธนาคารกรุงศรีอยุธยาฯ และทุนที่มีผู้อนุเคราะห์บริจาคผ่านทางมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีทุนกู้ยืมเงินจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาล ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทุนกู้ยืมแบบ กยศ. (ชำระคืนหลังเรียนจบภายในเวลา 2 ปีให้กับธนาคารกรุงไทย) และทุนกู้ยืมแบบ กรอ.(ชำระคืนหลังเรียนจบและมีรายได้แล้วให้กับกรมสรรพากร) ด้วย

ชีวิตนักศึกษา

มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์นตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ แวดล้อมด้วยศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ทพลาซ่า และห้างเทสโกโลตัส แอร์พอรทบิสสิเนสพาร์ค ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ กองบิน 41 และศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีทัศนียภาพวัดพระธาตุดอยสุเทพอันงดงามปรากฏแก่สายตาอีกด้วย

น้องๆนักศึกษาสามารถเดินทางมายังมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะมีพาหนะส่วนตัวเอง หรือจะใช้บริการรถรับจ้าง รถสองแถว และรถประจำทาง เนื่องจากมีถนนมุ่งสู่มหาวิทยาลัยให้เลือกมากถึง 5 เส้นทาง ได้แก่ ถนนวัวลาย ถนนมหิดล ถนนสนามบิน ถนนสายเชียงใหม่-ฮอด และทางหลวงหมายเลข 1141

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook