มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Yala Islamic University

ก่อตั้ง : พ.ศ. 2541
ต้นไม้ประจำสถาบัน : ต้นพิกุล
สีประจำสถาบัน : สีเขียว-ขาว
จำนวนคณะ : 4 คณะ
จำนวนนักศึกษา : ประมาณ 2,503 คน
อัตราค่าเล่าเรียน : -
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ : 135/8 หมู่ 3 บ้างโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
โทร. 0 7341 8610-4
เว็บไซต์ : www.yiu.ac.th

ประวัติ
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัยให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประเภทมหาวิทยาลัยตามใบอนุญาตลงวันที่ 3 เมษายน 2541 โดยมีมูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาอิสลามภาคใต้เป็นผู้รับอนุญาต และได้รับสถาปนาอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2541 โดยมีเจ้าชาย อะมีรตุรกี บินฟัฮดุ บินญาลวี อาลีซูอุด ประธานองค์การสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติสำนักงานภาคตะวันออก ประเทศซาอุดิอาระเบีย เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการสถาปนาโดยนักวิชาการมุสลิมและผู้ทรงคุณวุฒิด้านอิสลามศึกษาในภูมิภาค ซึ่งมีเจตนาอันแน่วแน่ที่จะส่งเสริมและพัฒนาด้านอิสลามให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและความคาดหวังในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาภูมิภาคสืบไป
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้ดำเนินการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี โดยรับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 200 คนเมื่อปี พ.ศ. 2541 ใน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาชะรีอะฮุ (กฎหมายอิสลาม) และสาขาวิชาอุศูลุคดีน (หลักการศาสนาอิสลาม) ต่อมาในปี 2544 จึงได้รับอนุมัติให้เปิดหลักสูตรประกาศณียบัตรบัณฑิต สาขาการสอนอิสลามศึกษา จากทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษารุ่นแรก 49 คน ต่อมาในปี 2545 มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้รับอนุมัติให้เปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอาหรับ และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ จนกระทั่งในปี 2550 มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้รับการเปลี่ยนประเภทจากวิทยาลัยมาเป็นมหาวิทยาลัยอย่างสมบูรณ์

สัญลักษณ์
เครื่องหมายของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาประกอบด้วย รูปวงกลม โดยมีคัมภีร์อัลกุรอานและปีฮิจเราะห์ศักราช 1419 ในขอบวงกลมส่วนในและขอบวงกลมส่วนนอกประกอบด้วย ชื่อมหาวิทยาลัยเป็นภาษาอาหรับ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
"คัมภีร์อัลกุรอาน" หมายถึง ธรรมนูญในการดำรงชีวิต เป็นคัมภีร์ที่อัลลอฮทรงประทานให้แก่ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ขอความโปรดปรานและสันติสุขจงมีแต่ท่าน) คัมภีร์อัลกุรอานบรรจุด้วยสิ่งที่จำเป็นต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกด้านในการดำรงชีวิต
"รูปวงกลม" หมายถึง ความครอบคลุมและความสมบูรณ์ของอิสลาม
"1419" หมายถึง ปีฮิจเราะห์ศักราชแห่งการก่อตั้ง
"สีเขียว" หมายถึง ความเป็นผู้นำ นักเคลื่อนไหว เป็นพลวัตรของนักศึกษาวิทยาลัยอิสลามยะลา "สีขาว" หมายถึง ความบริสุทธิ์ของอิสลาม
"ต้นพิกุล" เป็นต้นไม้ที่นิยมปลูกกันมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีลักษณะลำต้นที่แข็งแกร่ง ผลิใบแตกกิ่งก้านสาขาอย่างสมดุล ให้ร่มเงาแก่ผู้พักพิง ดอกมีกลิ่นหอม แสดงให้เห็นถึงปนิธานของมหาวิทยาลัยที่มุ่งอบรมสั่งสอนให้นิสิตนักศึกษาและบุคลากรมีการเติบโตอย่างมีดุลยภาพ มีหัวใจที่มุ่งมั่น ยืนหยัดเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง พร้อมเผยแพร่ความรู้และสร้างสรรค์สังคมให้มีสันติสุขตลอดไป

มีอะไรเรียนบ้าง
1. คณะอิสลามศึกษา
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
- ชะรีอะฮุ (กฎหมายอิสลาม)
- อศูลุดดีน (หลักการศาสนาอิสลาม) (หลักสูตรนานาชาติ)
- อิสลามศึกษา
- อิสลามศึกษา (ภาคปกติ โครงการพิเศษ)

2. คณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
- ภาษาอาหรับ (หลักสูตรนานาชาติ)
- ภาษาอังกฤษ (หลักสูตรนานาชาติ)
- ภาษามลายู (หลักสูตรนานาชาติ)
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
- รัฐประศาสนศาสตร์
- รัฐประศาสนศาสตร์ (ภาคปกติ โครงการพิเศษ)
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
- เศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคาร
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
- การจัดการ

3. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- เทคโนโลยีสารสนเทศ
- วิทยาศาสตร์

ค่าใช้จ่าย
ค่าเล่าเรียนในหลักสูตรปกติจะแตกต่างกันตามกลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หน่วยกิตละ 1,200 บาทสำหรับวิชาบรรยาย และ 1,500 บาทสำหรับวิชาปฏิบัติ กลุ่มสาขาวิชาวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยกิตละ 1,500 บาท สำหรับวิชาบรรยาย และ 1,800 บาท สำหรับวิชาปฏิบัติ หลักสูตรนานาชาติ หน่วยกิตละ 2,500 บาทสำหรับวิชาบรรยาย และ 3,000 บาท สำหรับวิชาปฏิบัติ

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
* การรักษาพยาบาล
* บริการให้คำปรึกษา
* กิจกรรมด้านกีฬา การพัฒนาบุคลอกภาพ
* หอพัก มหาวิทยาลัยอิสลามมีนโยบายให้นักศึกษาพักอาศัยในหอพักวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเป็นการฝึกหักให้นักศึกษารู้จักการดำรงชีวิตในสังคมร่วมกับคนอื่น

ทุนการศึกษา
เพื่อเป็นการสนับสนุนบรรยากาศทางการศึกษาและยังเป็นการสร้างขวัญ และกำลังใจให้แก่นักศึกษาที่มีผลการเรียนดี และนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มหาวิทยาลัยจึงได้จัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ ทุนยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา ทุนทำงานแลกเปลี่ยน ทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ทุนทั่วไป และทุนฉุกเฉิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook