ภาษา...ตายได้จริงหรือ

ภาษา...ตายได้จริงหรือ

ภาษา...ตายได้จริงหรือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเทศไทยประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มากมายหลากหลายกลุ่มทำให้ภาษามีความหลากหลายตามไปด้วย แต่ภาษาหลายๆ ภาษากำลังจะตายไปจากสังคมไทย เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์ หลายคนไม่เชื่อว่าภาษาตายได้

ศ.ดรสุวิไล เปรมศรีรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ภาษาสามารถตายได้ และในขณะนี้การตายของภาษาก็กำลังเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและในทุกประเทศทั่วโลก นักภาษาศาสตร์ได้ประมาณการไว้ว่าร้อย ละ90 ของภาษาที่มีในโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติคือใกล้ตาย และกลุ่มที่น่ากลัวต่อการสูญสลายคือกลุ่มภาษาที่มีผู้ใช้จำนวนน้อย ในประเทศไทยจากทั้งหมด 70 กลุ่ม จากการศึกษาค้นคว้าประมาณการว่ามี 14 กลุ่มที่ภาษาอยู่ในภาวะวิกฤติ

ส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่เป็นภาษาตระกูลที่ไม่ใช่ภาษาในตระกูลไท เช่น ภาษาในตระกูล ออสโตรเอเชียติก เช่น ภาษาชอง กะซอง ซัมเร ภาษาเกนซิว (ซาไก) ภาษามลาบรี หรือตองเหลือง ละเวือะ ละว้า (ก๋อง) อุรักลาโว้ย มอเกล็น สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาษาตายมีอยู่หลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักคือ อิทธิพลจากภายนอก เช่น จากวัฒนธรรมภายนอก วัฒนธรรมโลก ภาษาโลกหรือภาษาอังกฤษ และสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ทัศนคติหรือความคิดของเจ้าของภาษาและเจ้าของวัฒนธรรม เช่น มีความภูมิใจต่อภาษาและวัฒนธรรมของตนเองหรือไม่ บางครั้งก็คิดว่าภาษาของตนเองด้อยกว่าภาษาอื่น และคิดว่ากลุ่มภาษาใหญ่ดีกว่า และมีความสำคัญมากกว่า ความคิดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ภาษาถดถอยและอาจจะเลิกใช้ไปในที่สุด ซึ่งเมื่อเลิกใช้ภาษานั้นๆ ในบ้านเมื่อใดภาษาก็ตาย เพราะถ้าพ่อแม่ไม่ได้พูดกับลูก ลูกก็ไม่สามารถพูดกับของเขาได้ ภาษานั้นก็จะตายไปในที่สุด

TIPS
นักภาษาศาสตร์ระบุว่า ปัจจุบันมีภาษากว่า 7,000 ภาษาทั่วโลก และ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ภาษาเกินกว่าครึ่งนั้นมีความเสี่ยงที่จะต้องสูญหายไปตลอดกาล โดยเฉลี่ยแล้ว ทุก 2 สัปดาห์ จะมีภาษาหายไปจากโลก 1 ภาษา เพราะว่าภาษาเหล่านั้นไม่มีการเขียน ไม่มีการบันทึกหรือมีเอกสารอ้างอิงใดๆ เลย เมื่อคนที่พูดภาษานั้นๆ ได้ตายไป ภาษาเหล่านั้นก็ต้องหายไปด้วย โดยมีอัตราการสูญเสียมากกว่า นก ปลา หรือพืช หายากในโลกเสียอีก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วิทยาศาสตร์รอบตัว(จาก สสวท.)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook