มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดตัวพ็อกเกตบุ๊ก "ปิรามิดหน้าเสาธง"

มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดตัวพ็อกเกตบุ๊ก "ปิรามิดหน้าเสาธง"

มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดตัวพ็อกเกตบุ๊ก "ปิรามิดหน้าเสาธง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทบรรณาธิการร่อนตะแกรง ปรุงแต่งด้วยสารกระตุ้น

มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดตัวพ็อกเกตบุ๊ก "ปิรามิดหน้าเสาธง" บทบรรณาธิการคัดสรรจากนิตยสารสุดฮิปของมหาวิทยาลัย รวบรวมเรื่องราวที่มีจุดเริ่มต้นจากที่เดียวกัน เกี่ยวโยงถึงเหตุการณ์ ผู้คน ความรัก ความคิด ความฝัน และแรงบันดาลใจที่แตกต่างหลากหลาย ผ่านมุมมองของบก.นักสังเกตชีวิต ที่ชอบคิด ชอบตั้งคำถามกับรายละเอียดใกล้ตัว เนื้อหาเขียนขึ้นด้วยภาษาง่ายๆ พูดคุยกับผู้อ่านเป็นกันเอง บางเรื่องเป็นเรื่องที่เราคิด แต่อาจมีบางด้านที่คิดไม่ถึง บางเรื่องเป็นเรื่องที่เรารู้สึก แต่อาจจะไม่รู้สึกมากพอ และบางครั้งขณะที่เราอ่าน ก็อาจทำให้ความคิดบางอย่างของเราตื่นขึ้นมา

นิยามสั้นๆ ที่พอจะอธิบายเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ได้ก็คือ อิ่มไปด้วยแรงบันดาลใจและอุ่นไปด้วยความรัก

ว่าด้วย "ทัศนคติ"
มีหนังสืออยู่ประเภทหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีที่ทางเล็กๆ บนชั้นวางร้านขายหนังสือบ้านเรา คือ หนังสือที่ว่าด้วย "ทัศนคติ" ซึ่งงานเขียนเหล่านี้มักเป็นผลงานจากนักคิด นักเขียน นักวิชาการ คอลัมนิสต์ ฯลฯ และยิ่งเป็นงานเขียนประเภท "บทบรรณาธิการ" แล้วยิ่งมีน้อยลงไปอีก
บทบรรณาธิการทั่วไปนั้นแบ่งได้ 2 ประเภท ประเภทแรกเน้นบอกกล่าวข่าวสาร ทักทายผู้อ่าน แนะนำเนื้อหาภายในเล่ม ประเภทหลังเน้นทัศนคติ ประเภทหลังนี้เอง ที่ บก. รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นเล็ก ช่วยกันผลิตผลงานออกมาเติมสีสันให้แผงหนังสือไม่แห้งแล้งจนเกินไป


ปกรณ์ พงศ์วราภา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM เคยมีงานรวมเล่มบทบก.ของเขาในชื่อ "ผมเพียงแต่จะบอกว่า..." คุณปกรณ์เป็นหนึ่งในเจ้าพ่อสื่อสิ่งพิมพ์นิตยสารของเมืองไทย เครือจีเอ็มกรุ๊ป สิ่งที่คุณปกรณ์ต่างจากนายทุนคนอื่นคือ คุณปกรณ์เป็นนักเขียนด้วย ตัวอักษรของเขาจึงเข้ม เหมือนกาแฟร้อน ไม่เติมนม ไม่เจือน้ำตาล ทิวา สาระจูฑะ มีงานเขียนบทบรรณาธิการจากนิตยสารสีสันถึง 2 เล่มคือ "สีสันชีวิต" และ "สีสันวันเวลา" ในวงการนิตยสารเป็นที่รู้กันดีว่า ประโยคสุดท้ายของบก.ร่างเล็กคนนี้ ชัดเจนและคมเสมอ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ / วชิรา รุธิรกนก / ทรงกลด บางยี่ขัน 3 บก. นิตยสาร aday นิตยสารขวัญใจเด็กแนวกับผลงาน "wake up!" แม้สำนวนจากบก. 3 คน มีรสชาติต่างกัน แต่ก็อยู่ภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกันคือบทบรรณาธิการบันดาลใจ

ปิรามิดหน้าเสาธง เป็นงานรวมบทบรรณาธิการคัดสรร จาก บก.รุ่นใหม่อย่าง สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ
งานเขียนประเภทบทบรรณาธิการนี้ เขียนขึ้นด้วยภาษาง่ายๆ พูดคุยกับผู้อ่านเป็นกันเอง แต่ก็สะท้อนถึงสิ่งที่เราเรียกว่าพลังวรรณกรรมได้เป็นอย่างดี บางเรื่องเป็นเรื่องที่เราคิด แต่อาจมีบางด้านที่คิดไม่ถึง บางเรื่องเป็นเรื่องที่เรารู้สึก แต่อาจจะไม่รู้สึกมากพอ และบางครั้งขณะที่เราอ่าน ก็อาจทำให้ความคิดบางอย่างของเราตื่นขึ้นมา
มหาวิทยาลัยรังสิต มีนิตยสารเล็กๆ ฉบับหนึ่ง ชื่อว่า "สารรังสิต" ที่มหาวิทยาลัยใช้เป็นช่องทาง "คุย" กับนักศึกษา และด้วยความเชื่อว่านักศึกษาไม่ได้อยากรู้ว่าเดือนหนึ่งๆ ผู้บริหารตัดริบบิ้นเปิดงานไปกี่ครั้ง การทำหนังสือให้วัยรุ่นอ่านต้องเนียนๆ เปลี่ยนจากสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องการจะบอก ไปสู่สิ่งที่นักศึกษาอยากจะรู้ สารรังสิตจึงเป็นนิตยสารที่มีบุคลิกเฉพาะตัว มีวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกไปกว่าสื่อประจำองค์ทั่วไป เพราะมีคอลัมน์ทั้ง ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่มเกม แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ไขปัญหานอกห้องเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องอกหัก รัดคุด ฯลฯ

หรือถ้านับเอาพ็อกเก็ตบุ๊คอีกประเภทหนึ่งคือ ประเภทเรื่องเล่าประสบการณ์ความประทับใจในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการตีพิมพ์มาต่อเนื่องนับแต่อดีต อาทิ กลิ่นสีและกาวแป้ง เรื่องราวทะเล้นๆ แสบๆ คันๆ เกี่ยวกับเด็กจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร บันทึก(ลับ)คุณหมอ ที่บรรจุความเป๋อเปิ่น กุ๊กกิ๊ก น่ารักๆ ของนักเรียนแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โต๊ะควายใต้ถุนตึก ว่าด้วยอารมณ์เซอร์แบบนิเทศๆ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้านับในมุมนี้ก็ต้องถือว่า ปิรามิดหน้าเสาธง ก็คือตัวแทนของของความรัก ความทรงจำและความประทับใจจากรั้วมหาวิทยาลัยรังสิตได้เช่นกัน

ว่าด้วย "แรงบันดาลใจ"
ปิรามิดหน้าเสาธง แบ่งเนื้อหาภายในเล่มเป็น 7 เซ็คชั่น ได้แก่ ภูเขาน้ำแข็งใต้ทะเล, วิหารของความรัก, โรมมิได้สร้างในวันเดียว, ข้างหน้ามีทางแยก, แมลงวันตอมแมลงวัน, กระจกบานเล็ก และอีกด้านหนึ่งของเหรียญ

แม้จะมีจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต แต่ปิรามิดหน้าเสาธงก็มีความร่วมสมัยและเป็นสากลอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องราวที่อาจเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตให้กับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ จากกรณีศึกษาชีวิตของผู้คน อาทิ ฌอง โดมินิก โบนี้ ที่พิการตั้งแต่หัวจรดเท้า แต่ใช้ใจเอาชนะกาย เขียนหนังสือจบหนึ่งเล่มจากการกระพริบตาเลือกตัวอักษรทีละตัว ฮิคาริ ที่พิการทางสมองเล่นดนตรีไม่ได้สักชิ้นแต่เขียนเพลงคลาสสิคที่สวยงามได้

นายแพทย์ธณัฐ วิทยานุลักษณ์ ที่ใช้เวลาวันหยุดขับรถขึ้นดอยไปช่วยชาวเขา ใช้เงินส่วนตัวซื้อยาไปเอง เดินทาง กินอยู่ลำบาก แต่เขาเชื่อว่า "หมอออกไปหาคนไข้ ดีกว่ารอให้คนไข้มาหา" อัจฉรา บุรารักษ์ จบวารสารศาสตร์ เริ่มต้นธุรกิจร้านไอศกรีมโฮมเมด iberry จากร้านเล็กๆ สู่ผู้นำในธุรกิจภัตตาคารและอาหารสำหรับคนรุ่นใหม่ วริสร รักษ์พันธุ์ เพิ่งรับช่วงกิจการชุมพรคาบาน่ารีสอร์ตของครอบครัวมาบริหารได้ไม่นาน หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เขานำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ปัญหา ค่อยๆ แก้ด้วยปัญญา จนกลายเป็นความยั่งยืนของธุรกิจ ณัฐชนัน เชียภาณุมาศ เรียนโฆษณาเพราะชอบโฆษณา วันทั้งวันดูโฆษณา วันนี้เขาเป็นครีเอทีฟโฆษณาที่กวาดรางวัลทุกสนามตั้งแต่สยามพารากอนถึงเมืองคานส์ ฯลฯ

พวกเขาสู้กับอะไร หนักแค่ไหน สู้อย่างไร บางคนเป็นตัวอย่างของการที่รู้ว่าชีวิตมีความฝันอะไรและมุ่งมั่นจะไปให้ถึง บางคนคือตัวอย่างของความอดทนต่อสู้กับปัญหา บางคนเป็นตัวอย่างของการไปได้สวยกับสิ่งที่ไม่เคยเรียนในมหาวิทยาลัย คำตอบย่อมต่างกัน เพราะทุกคนต่างมีกุญแจที่ไขเอาชนะอุปสรรคของตัวเอง

ในฐานะนักสังเกตชีวิต ชอบคิด ชอบตั้งคำถาม ใส่ใจกับรายละเอียด อารมณ์ ความรู้สึกใกล้ตัว เรื่องราวที่ดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ธรรมดาๆ หรือเป็นมุมที่ถูกมองข้าม บางคำถามของเขา อาจทำให้เราต้องคิดต่ออีกที

"ความสำเร็จในชีวิตคืออะไรครับ เราจะเอาเกณฑ์อะไรวัดความสำเร็จ ผู้กำกับภาพยนตร์สร้างหนังคุณภาพมาหลายเรื่องแต่ยังไม่ได้รางวัล กับผู้กำกับหน้าใหม่ทำหนังเรื่องแรกก็ได้รางวัลแล้ว ถ้าบอกว่าผู้กำกับคนแรกยังไม่ประสบความสำเร็จ ผมว่าก็ดูจะตื้นเขินไปสักหน่อย

เราจะให้คุณค่ากับอะไร "ผลลัพธ์" หรือ "ความรัก"

เช่นนี้ หมอ เภสัชกร พยาบาล ครู วิศวกร สถาปนิก นักวิทยาศาสตร์ นักเทคนิคการแพทย์ นักกฎหมาย สื่อมวลชน ฯลฯ คนที่ทำงานด้วยความเพียร ประหนึ่งว่าตกหลุมรักในสิ่งที่ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อย่างนี้เราจะบอกว่าเขาไม่ประสบความสำเร็จล่ะหรือ"

ว่าด้วย "บท และ บรรณาธิการ"
สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ
อดีตนักเรียนที่ใช้ชีวิตนอกห้องเรียนมากไปหน่อย จบมัธยมเกรดเฉลี่ย 0.9 สอบซ่อมจนจบมาด้วยความภูมิใจว่าถึงแม้จะสอบตกทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนเขียนบทความวิทยาศาสตร์ส่งประกวดในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
จุดเปลี่ยนของเขาคือตอนเข้ามหาวิทยาลัยได้อ่านหนังสือ "ฉันจึงมาหาความหมาย" ของวิทยากร เชียงกูล แล้วเกิดลูกฮึดในชีวิตขึ้นมา เริ่มตั้งใจเรียนหนังสือ บ้ากิจกรรม และหลงใหลกับชีวิตนักเดินทาง เรียนจบได้ปริญญามาหนึ่งใบ กับประกาศนียบัตรสองใบ คือ นักกิจกรรมดีเด่นของคณะ และรางวัลชนะเลิศโต้วาทีระดับอุดมศึกษาประเทศไทย
แม่ของสมเกียรติเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่หอบเสื่อผืนหมอนใบ ลงเรือมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่เมืองไทย จึงอินกับละครชีวิตเรื่องโอชินกับแดจังกึมมาก ส่วนตัวเขาก็อินกับหนังเรื่อง มิสเตอร์ฮอลแลนด์ โอปุส นักดนตรีซึ่งกะจะมาสอนหนังสือสนุกๆ เพื่อจะได้มีเวลาเขียนเพลงคลาสสิกที่ยิ่งใหญ่ สุดท้ายทั้งชีวิตไม่ได้เขียนเพลงคลาสสิกซักเพลง เพราะมัวแต่เขียนชีวิตเด็กนักเรียน

สมเกียรติผ่านงานนิตยสารประมาณ 3 ปี กะมาสอนหนังสือสนุกๆ คั่นเวลาที่มหาวิทยาลัยรังสิต แต่บรรยากาศการทำงานเพลิดเพลิน อบอุ่น เร้าใจ จึงสนุกติดพันมาเรื่อย ปีนี้เป็นปีที่ 12 แล้ว และยังสนุกอยู่

ในฐานะบรรณาธิการ สมเกียรติผ่านงานบรรณาธิการหนังสือกว่าสิบเล่ม อาทิ จิกมี เกซาร์ นัมเกล วังชุก เจ้าชายในดวงใจ, อาทิตย์ อุไรรัตน์ ก้าวข้ามวิกฤตชาติ, รังสิตรังสรรค์ 2529-2553 ฯลฯ

หนังสือเล่มนี้หนา 264 หน้า ตั้งราคาขายไว้ 132 บาท เพื่อให้นักอ่านหนุ่มสาวรุ่นใหม่สามารถซื้อหาได้ในราคาไม่แพงจนเกินไป รายได้จากการจำหน่ายบางส่วนจะนำไปสมทบทุนในกิจกรรมจิตอาสา ผ่านบัญชี "มหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อการกุศล" ธนาคารทหารไทย สาขาตลาดสี่มุมเมือง-รังสิต บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 099-2-38581-5 สำหรับผู้สนใจสั่งซื้อหนังสือ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด โทร. 0-2423-9999 หรือเว็บไซต์ร้านนายอินทร์ www.naiin.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook