ทำอย่างไรเมื่อถูกข่มขืน!!!

ทำอย่างไรเมื่อถูกข่มขืน!!!

ทำอย่างไรเมื่อถูกข่มขืน!!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ข่มขืน" รูปแบบหนึ่งของการทำร้ายร่างกายเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่ผู้ถูกกระทำไม่เต็มใจ หรืออาจจะเกิดในกรณีที่ผู้ถูกกระทำไม่อยู่ในฐานะที่จะปกป้องตัวเองได้ นับเป็นอาชญากรรมทางเพศอีกอย่างหนึ่งที่มีความร้ายแรงที่สุด แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น แต่หากเรื่องร้ายๆ แบบนี้เกิดขึ้นกับคุณหรือคนรู้จักใกล้ชิด เราควรจะทำอย่างไรดี? วันนี้มีแนวทางปฏิบัติรับมือกับปัญหาการถูกข่มขืนทางเพศมาฝากกันค่ะ

จากการได้พูดคุยกับ พ.อ.รศ.นพ.วิโรจน์ อารีย์กุล ประธานอนุกรรมการ Adolescent Health ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ทหารและชุมชนวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า บอกว่า การถูกข่มขืนเป็นปัญหาทางด้านการแพทย์ที่เร่งด่วน ซึ่งผู้ถูกกระทำจะต้องได้รับการช่วยเหลือทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ควบคู่ไปด้วย โดยบทบาทของแพทย์ไม่มีหน้าที่ตัดสินว่าใครถูกข่มขืนหรือไม่ แต่มีหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วย ตรวจคนไข้ บันทึกพยานหลักฐาน หรือสิ่งที่ตรวจพบต่างๆที่เป็นจริง เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกข่มขืนในการดำเนินคดีทางกฎหมาย พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ครอบครัว หรือญาติใกล้ชิด

เมื่อผู้หญิงถูกข่มขืนควรทำอย่างไร

สิ่งแรกที่ต้องคิดก็คือ พยายามตั้งสติเข้าไว้ ไม่สิ้นหวัง หรือคิดสั้นทำร้ายตัวเอง และบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับใครสักคนที่ไว้ใจได้ เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน ครู หรือหมอ พยาบาล เป็นต้น แต่หากยังกังวลเรื่องการพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย สามารถซื้อยาคุมฉุกเฉินตามร้านขายยาทั่วไป กินทันทีภายในเวลา 72 ชั่วโมงหลังจากถูกข่มขืน ยิ่งเรากินยาคุมฉุกเฉินเร็วเท่าไร จะทำให้การป้องกันการตั้งท้องนั้นมีประสิทธิภาพ หากว่ากลัวลืมที่จะกินยาคุมฉุกเฉินเม็ดที่สองหลังจากกินเม็ดแรกไปแล้ว 12 ชั่วโมง สามารถกินสองเม็ดในครั้งเดียวได้ ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างกัน และแม้ว่าจะรีบกินยาคุมฉุกเฉินไปแล้วก็ตาม ก็ยังมีอย่างอื่นที่สำคัญที่คุณผู้หญิงไม่ควรมองข้ามค่ะ........

โดย พ.อ.รศ.นพ.วิโรจน์ แนะนำว่า เมื่อผู้หญิงถูกข่มขืนควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่ายกายภายในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ยิ่งไปตรวจร่างกายเร็วที่สุดยิ่งดี เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจพบหลักฐานต่างๆ หลังเกิดเหตุไม่ควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ชำระล้างร่างกายด้วยสบู่หรือน้ำยาใดๆ เพราะอาจทำให้พยานหลักฐานถูกทำลาย หรือตรวจพบได้ไม่ชัดเจน เช่น รอยฟกช้ำจากการถูกทำร้ายร่างกาย คราบเลือด น้ำอสุจิ น้ำลาย ขนเพชร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานที่จะใช้ในการดำเนินคดีจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย รวมถึงผลต่อการวินิจฉัยโรค และให้การรักษาอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การถ่ายภาพร่องรอยบาดแผลไว้เป็นพยานหลักฐาน ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่มีประโยชน์อย่างมาก

ในกรณีที่ถูกข่มขืนหรือถูกบังคับนี้ แพทย์จะตรวจหาความผิดปกติดังกล่าวให้ รวมถึงให้การรักษาป้องกันความสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ รวมถึงการตรวจเลือดในกรณีที่สงสัยว่าอาจจะเป็นซิฟิลิส หรือติดเชื้อ HIV หรือโรคตับอักเสบ ไวรัสบี ฯลฯ ซึ่งอาจนัดมาตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงระยะเวลา 4-12 สัปดาห์ เพราะผลการตรวจบางอย่าง เช่น ตรวจเลือด อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ จึงจะแสดงผลของการติดเชื้อ หรือการตั้งครรภ์ บางครั้งอาจจะต้องมีการตรวจ DNA test ด้วยตามขั้นตอนทางหลักนิติเวชนั่นเอง

"ทั้งนี้หากการถูกข่มขืนใกล้กับช่วงเวลาของการตกไข่ของผู้ถูกกระทำ แพทย์จะพิจารณาให้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนในกรณีถูกทำร้ายมีบาดแผล อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ และให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักร่วมด้วย ซึ่งภายหลังจากตรวจร่างกายไว้เป็นหลักฐานแล้ว การแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในทันที จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ถูกกระทำเอง ในแง่ของการจดจำเหตุการณ์ หรือระบุรูปพรรณสัณฐาน เช่น ท่าทางบุคลิก หน้าตา การแต่งตัว ของผู้กระทำการข่มขืนได้แม่นยำมากกว่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางด้านกฎหมายและคดีความ" พ.อ.รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าว

ปรับความคิดเยียวยาความรู้สึกของตัวเอง

นอกจากความปลอดภัยด้านสุขภาพกายแล้ว สุขภาพจิตใจตลอดจนความคิดของผู้ตกเป็นเหยื่อก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ควรได้รับการเยียวยา สิ่งสำคัญอยู่ที่ผู้ถูกกระทำต้องมองตัวเองในด้านบวก ไม่สิ้นหวัง ท้อแท้หมดกำลังใจ หรือปิดกันตนเองจากโลกภายนอก เพราะนั่นจะเป็นตัวการทำลายสุขภาพ ทำให้ซึมเศร้า กังวล นอนไม่หลับ หลีกหนีผู้คน ฯลฯ จนคิดโทษตัวเองเป็นสาเหตุที่ถูกข่มขืน เช่น รู้สึกผิดที่ไม่ระมัดระวังตนเอง รู้สึกผิดที่เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ตลอดจนรู้สึกโกรธผู้ที่ข่มขืนตนเอง รวมถึงรู้สึกโกรธตัวเอง ซึ่งความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ถูกข่มขืนทางเพศในระยะยาว

ด้วยเหตุนี้การดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจ จึงต้องเริ่มที่ผู้ถูกกระทำ ปรับเปลี่ยนความคิด มีทัศนคติที่ดีกับตัวเอง ไม่ลงโทษตัวเอง หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด พร้อมเปิดใจรับการดูแลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้ปกครอง ญาติ เพื่อน แพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สังคมสังเคราะห์ นักจิตวิทยา รวมถึงจิตแพทย์ ในการเยียวยาจิตใจให้เข้มแข็ง เพื่อให้ใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขได้ในสังคม มีความมั่นใจในตนเอง ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ความเชื่อมั่นต่างๆ ในตัวเองและสิ่งรอบข้าง แล้ววันหนึ่งความทรงจำที่เลวร้ายจะกลายเป็นอดีต......

คนใกล้ชิดก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องพรมจรรย์

เหนือสิ่งอื่นใด คนใกล้ชิดผู้หญิงที่ถูกข่มขืน มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูสภาพจิตใจได้ ด้วยการไม่เอาเยื่อบางๆ ที่เรียกกันว่า "พรมจรรย์" มาวัดคุณค่าผู้หญิง ต้องโน้มน้าวให้ผู้หญิงเข้าใจว่าคนที่ควรต้องถูกทำให้อับอายคือ คนร้าย เมื่อผู้หญิงรู้สึกว่าคุณค่าของตัวเองยังอยู่เต็มร้อย ก็จะไม่เก็บงำปัญหาไว้ หรือปล่อยให้ผ่านเลยไป จะช่วยสกัดภัยทางเพศที่อาจเกิดกับคนอื่นๆ ได้อีกจำนวนมาก

สำหรับผู้ที่ประสบปัญหาแต่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ยังมีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเยาวชนและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากมาย ที่พร้อมยื่นมือเข้าช่วยเป็นที่ปรึกษาแก้ไขปัญหาด้วยกฎหมายไปพร้อมๆ กับการดูแลความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ตกเป็นเหยื่อ "คุณจะไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังอีกต่อไป " อาทิ มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร. 02-513-1001 สหทัยมูลนิธิ กรุงเทพฯ 02-381-8834-6 สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ 02-941-2320 มูลนิธิผู้หญิง กรุงเทพฯ 02-2433-5149, 02-435-1246 ศูนย์บริการปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์ 1300 เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการรับมือกับปัญหา หากเหตุการณ์ข่มขืน! เกิดขึ้นกับคุณหรือคนที่คุณรัก คุณจะทำอย่างไรดี? เพราะทุกวันนี้ผู้หญิงเราช่างไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย คู่มือนี้อาจพอช่วยเหลือคุณผู้หญิงได้ในกรณีฉุกเฉิน!

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : พ.อ.รศ.นพ.วิโรจน์ อารีย์กุล ประธานอนุกรรมการ Adolescent Health
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ทหาร
และชุมชนวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

 

เรื่องโดย : กิตติยา ธนกาลมารวย Team content talkaboutsex

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook