ต้า - อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ เปิดใจ

ต้า - อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ เปิดใจ

ต้า - อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ เปิดใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุนอีราสมุส มุนดุส ให้มากกว่าวิชาการ คืออาจจะมีเรื่องของประสบการณ์ ที่จะได้รับในแต่ละประเทศที่ไปศึกษา

"ต้า" อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้พิชิตทุนอีราสมุส มุนดุส ปี 2553 และได้บินไปเรียนต่อเมื่อวันเสาร์ที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา ก่อนบินไปเรียนต่อ ต้า ได้ทิ้งบทสัมภาษณ์ดีๆเกี่ยวกับการพิชิตทุนนี้ไว้ให้เพื่อนๆที่สนใจทุนอีราสมุส มุนดุส ในปีต่อไป ได้ใช้เป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมของตนเอง

การสมัครชิงทุนอีราสมุส มุนดุส ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของผมเลย เพิ่งเรียนจบมาและอยากหาที่เรียนต่อก็เลยลองสมัครทุนนี้ดู ปรากฏว่าได้ทุนด้วย ดีใจมากๆครับ ต้องบอกก่อนว่าผมไม่เคยรู้จักทุนนี้มาก่อนเลย แต่พอได้เข้าไปดูในเว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัยถึงได้รู้ว่ามีทุนนี้ด้วย ประกอบกับมีรุ่นพี่ที่รู้จักกันเขาเคยได้ทุนนี้ด้วย ก็เลยลองไปปรึกษากับพี่เขาดูเกี่ยวกับรายละเอียดของทุนนี้ พี่เขาแนะนำว่าทุนนี้ใช้เวลาเรียน 2 ปี ได้ไปเรียนในหลายประเทศ ได้ทั้งเรียน ได้ทั้งท่องเที่ยว ประสบการณ์เยอะดี ซึ่งก็ตรงกับความชอบของตัวผมด้วย พอรู้ว่าผมได้ทุนนี้ดีใจมากๆเลยครับ

สำหรับสาขาที่ผมได้ทุนคือ "VIBOT" (Vision and Robotics) เป็นการเรียนเกี่ยวกับการมองเห็นของหุ่นยนต์ โดยจะได้ไปเรียนที่ประเทศสก็อตแลนด์เป็นประเทศแรก เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นจะไปเรียนต่อที่ประเทศสเปนเป็นเวลาอีก 6 เดือน ปิดท้ายด้วยการไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสอีก 6 เดือน และในอีก 6 เดือนที่เหลือจะเป็นการ Internship หรือการทำงานวิจัยใน 3 ประเทศที่เราไปเรียนมาแล้วก็ได้ หรือจะเลือกไปทำงานวิจัยที่ประเทศออสเตรเลียหรือสหรัฐอเมริกาก็ได้ ผมตั้งใจว่าจะเลือกไปทำงานวิจัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็คงต้องเตรียมตัวมากหน่อย เพราะมีหลายคนที่สนใจจะไปทำงานวิจัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน การเรียนส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก แต่จะต้องทำงานวิจัย 1 ชิ้น ในช่วงที่ Internship ครับ

ทุนอีราสมุส มุนดุส จะให้ทุนในระดับปริญญาโทประมาณ 80 กว่าสาขา คนหนึ่งสมัครได้ไม่เกิน 3 สาขา เมื่อเลือกสาขาที่เราสนใจได้แล้ว ก็อัพโหลดเอกสารการสมัครไปที่เว็บไซต์ของโครงการที่ดูแลทุนนี้ หลังจากนั้นเขาดำเนินการต่างๆให้เรา แล้วจะติดต่อกลับมาที่เราว่าได้รับทุนนี้หรือไม่ สำหรับเอกสารการสมัครที่ส่งไปมี Resume ทรานสคริปต์ Essay ผลคะแนนภาษาอังกฤษ IELTS หรือ TOEFL และจดหมายรับรองจากอาจารย์

ผมคิดว่าที่ผมได้รับทุนนี้ กรรมการคัดเลือกเขาน่าจะดูจาก Resume กับ Essay เป็นหลัก เพราะทุนนี้ไม่มีการสอบใดๆทั้งสิ้น ที่ผ่านมาโปรไฟล์ของผมค่อนข้างดี เพราะในสมัยที่ผมเรียนอยู่ผมมีโอกาสไปฝึกงานที่ประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ไปดูงานด้านวิชาการในต่างประเทศกับ บริติช เคานซิล ด้วย ใน Essay ผมจะเขียนไปในลักษณะที่ชื่นชมมหาวิทยาลัยที่เราสนใจอยากไปเรียน แต่อย่าให้มากจนน่าเกลียด ซึ่งเราอาจเข้าไปค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ นอกจากนี้เราควรจะต้องเขียนถึงงานวิจัยที่เราสนใจอยากทำในอนาคตว่ามีความสอดคล้องกับงานวิจัยที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยนั้นอย่างไร เรียกว่าต้องทำการบ้านในระดับหนึ่งเหมือนกัน สรุปปิดท้ายด้วยการเขียนไปว่าทำไมเขาถึงควรเลือกเราให้เข้าไปเรียนต่อที่นั่น คุณสมบัติเราเหมาะสมกับสถาบันเขาแค่ไหน พร้อมๆกับบอกถึงวิธีการส่งเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับยุโรปว่าเราจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง เรียกว่าทุนนี้วัดกันด้วย Essay และ Resume เป็นหลัก ฉะนั้นเวลาที่เขียนทั้ง 2 สิ่งนี้ ต้องให้ความสำคัญมากๆ เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการพิชิตทุนนี้เลยก็ว่าได้

ผมมองว่าสิ่งที่เราจะได้รับกลับมาจากการได้ทุนไปเรียนในครั้งนี้ นอกจากเรื่องของวิชาการแล้ว คงเป็นเรื่องของประสบการณ์ ต่างประเทศก็ต่างประสบการณ์ ทำให้เราได้รับประสบการณ์ในชีวิตที่หลากหลาย นอกจากนี้คงเป็นเรื่องของ Connection ซึ่งอาจจะมีประโยชน์กับเราในอนาคตก็ได้ สำหรับตัวผมในอนาคตผมวางแผนเอาไว้ว่า อยากจะประดิษฐ์อะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับคนทั่วไป อยากให้คนจำเราได้ อาจจะเป็นกล้องแบรนด์ไทยก็ได้ครับ (หัวเราะ)

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจจะสมัครทุนอีราสมุส มุนดุส ในปีต่อไป ผมคิดว่า การเตรียมตัวกับเรื่องของภาษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เรื่องของผลการเรียนอาจสำคัญรองลงมา เพราะเรื่องของภาษาไม่ได้ฝึกฝนกันแค่ชั่วข้ามคืน ถึงจะเก่งได้ มันต้องอาศัยเวลา ฉะนั้นอยากแนะนำให้เพื่อนๆเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้เรื่องของการฝึกงานก็สำคัญเช่นกัน ถ้าเราอยากจะเรียนต่อปริญญาโทก็ควรจะหาที่ฝึกงานที่เกี่ยวกับงานวิจัย เราจะได้รู้ตัวเองว่าชอบงานวิจัยจริงหรือเปล่า ฉะนั้นคนที่เตรียมพร้อมกว่าย่อมได้เปรียบกว่าแน่นอน

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ปิยะนุช 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook