ภัยที่มากับสายน้ำ วันลอยกระทง

ภัยที่มากับสายน้ำ วันลอยกระทง

ภัยที่มากับสายน้ำ วันลอยกระทง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลอยกระทง เทศกาลขอขมาสายน้ำมาถึงทีไร นอกจากความสนุกสนานรื่นเริง เรามักได้ยินข่าวเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นควบคู่อยู่เสมอ วันนี้ ‘สร้างสุข' จึงนำภัยที่มักเกิดขึ้นในวันลอยกระทงมาเตือนพร้อมวิธีรับมือ เพื่อจะได้สนุกกับวันรื่นเริงได้แบบปลอดภัยเต็มร้อย

อุบัติเหตุทางถนน

จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุมากเป็นอันดับ 3 ของปีคือ 9,658 ครั้ง คร่าชีวิตคนไทยไปถึง 1,122 คน มากกว่าเดือนเมษายน ที่เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์เสียอีก เหตุนอกจากการที่คนขับรถเดินทางไปเที่ยวลอยกระทงกันเป็นจำนวนมาก ยังเป็นเพราะการดื่มเหล้าฉลองวันรื่นเริงนี้ด้วย

วิธีรับมือ

1. ก่อนออกเดินทางต้องตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน และเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ เนื่องจากในคืนวันลอยกระทงจะมีรถมาก
2. ศึกษาสภาพเส้นทางก่อนออกเดินทาง และไม่ควรขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กำหนด
3. ไม่ดื่มสุราหากต้องขับรถ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
4. วัยรุ่นที่มักขับขี่รถจักรยานยนต์ไปเที่ยวงาน ต้องสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย

พลุ ดอกไม้ไฟ

ลอยกระทงกับการจุดพลุ ดอกไม้ไฟเป็นของคู่กัน แต่ไม่ว่าปีไหนก็มักได้ยินข่าวคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการถูกพลุดอกไม้ไฟระเบิดใส่ แต่ละปีมีคนเข้ารักษาในห้องฉุกเฉินกว่า 13,000 ราย โดยเฉพาะเด็กอายุ 10-14 ปี ที่สำคัญผู้บาดเจ็บรุนแรงกว่า 30% คือ คนเมา!

วิธีรับมือ

1. การจุดพลุและประทัดหรือดอกไม้เพลิงที่ถูกต้อง ปัจจุบันจะอนุญาตให้เฉพาะผู้จัดงานหรือผู้ประกอบการเท่านั้น
2. อธิบายให้ความรู้แก่บุตรหลานเกี่ยวกับอันตรายของพลุ ดอกไม้ไฟ และระยะปลอดภัยในการยืนดูพลุคือ 10เมตรขึ้นไป
3. งดเว้นที่จะซื้อพลุ ดอกไม้ไฟ มาเล่นเอง เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงเสน่ห์แห่งความสวยงาม แต่ยังแฝงไว้ด้วยมหันตภัยอันร้ายแรง

จมน้ำ

เทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงที่เด็กไทยเสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตสูงสุดในรอบปี สถิติ 4-5 ปีที่ผ่านมา ในคืนวันลอยกระทงจะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตทันที 5 ศพ และในวันรุ่งขึ้นจะพบอีก 8 ศพ หรือเฉลี่ย 13 ศพ จาก 2 สาเหตุหลัก คือพลัดตกน้ำเพราะผู้คนเบียดเสียด และการลงน้ำไปเก็บเศษเงินในกระทง

วิธีรับมือ

1. พาเด็กไปลอยกระทงในสถานที่ปลอดภัยและถูกจัดเตรียมสำหรับลอยกระทงโดยเฉพาะ ตลิ่งต้องไม่สูงชันจนเกินไป หากมีการลงเรือต้องเตรียมเสื้อชูชีพให้พร้อมทุกครั้ง
2. ผู้ปกครองควรดูแลเด็กไม่ให้คลาดสายตา จูงมือเด็กให้แน่น และไม่ปล่อยเด็กให้ลอยกระทงเพียงลำพัง
3. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเดินเล่นบริเวณริมน้ำเพราะมีผู้คนเบียดเสียด เสี่ยงต่อการตกน้ำ
4. กำชับเด็กไม่ให้ลงไปในน้ำเพื่อเก็บเงินในกระทง เพราะการแช่อยู่ในน้ำเย็นเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิต

ภาพประกอบจาก : www.loikrathong.net

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook