ประวัติวันตรุษจีน

ประวัติวันตรุษจีน

ประวัติวันตรุษจีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเป็นมา

เทศกาลตรุษจีนมีประวัติยาวนานกว่าสี่พันปีแล้ว เดิมทีไม่ได้เรียกว่าตรุษจีน และก็ไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอนด้วย เมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตกาล คนในสมัยนั้นถือการโคจรรอบหนึ่งของดาวจูปีเตอร์เป็นหนึ่ง"ซุ่ย" จึงเรียกตรุษจีนว่า"ซุ่ย" เมื่อ 1000 กว่าปีก่อนคริสต์กาล ผู้คนเรียกตรุษจีนว่า"เหนียน"ซึ่งมีความหมายว่าการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์

ตามประเพณีพื้นบ้าน เทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีนไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน ในช่วงนี้ คืนวันที่ 30 เดือน 12 ซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ 1 เดือนอ้ายหรือวันชิวอิก จะเป็นวาระสำคัญที่สุดในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งกินเวลาทั้งหมดประมาณ 3 อาทิตย์

เพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ประชาชนในเมืองหรือชนบทต่างตระเตรียมกันตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะในชนบท พอย่างเข้าเดือนธันวาคมก็เริ่มเตรียมที่จะต้อนรับตรุษจีนแล้ว เช่น ทำความสะอาดบ้าน ซักเสื้อผ้าและผ้าห่ม ซึ่งถือเป็นการขับไล่สิ่งที่สกปรกออกจากบ้าน เพื่อให้บ้านมีโฉมหน้าใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องซื้อของกินของใช้มากมาย เช่น ลูกอม ขนม หมูเห็ดเป็ดไก่ และผลไม้นานาชนิด เพื่อเตรียมไว้กินหรือต้อนรับแขกในช่วงเทศกาลตรุษจีน ในเมืองใหญ่ การเตรียมการต่างๆก็เริ่มตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่นกัน เช่น หน่วยงานวัฒนธรรมและคณะนาฏศิลป์จะเตรียมรายการมากมายสำหรับแสดงในช่วงตรุษจีน สถานีโทรทัศน์ต่างๆจะเตรียมจัดงานบันเทิง สวนสาธารณะจะเตรียมจัดงานวัดตามประเพณีฉลองตรุษจีนที่สืบทอดกันมาแต่สมัยโบราณ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสนุกสนานมากกว่าวันธรรมดา ส่วนร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ จะจัดเตรียมสินค้าให้เพียงพอเพื่อตอบสนองการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีสถิติแสดงให้เห็นว่า เงินที่ชาวจีนใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้นจะเป็น 1 ใน 3 ของเงินใช้จ่ายตลอดปีหรืออาจมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน มีประเพณีฉลองตรุษจีนที่แตกต่างกัน แต่มีประเพณีอยู่อย่างหนึ่งไม่ว่าภาคใต้หรือภาคเหนือล้วนปฏิบัติเหมือนกัน นั่นก็คือ การรับประทานอาหารด้วยกันทั้งครอบครัวในคืนส่งท้ายปีเก่า ที่ภาคใต้ อาหารมื้อนี้มักจะมีกับข้าวกว่าสิบอย่าง ต้องมีเต้าหู้และปลา เพราะว่าการออกเสียง"เต้าหู้"และ"ปลา"นั้นพ้องเสียงกับคำว่า"ฟู่อวี้"ซึ่งมีความหมายว่ามั่งคั่งร่ำรวย ส่วนทางภาคเหนือ ในคืนส่งท้ายปีเก่า ทุกคนในครอบครัวจะช่วยกันห่อเกี๊ยว แล้วรับประทานด้วยกัน

ในคืนส่งท้ายปีเก่ายังมีประเพณีอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า"โส่วซุ่ย"คือ อยู่โต้รุ่งเพื่อต้อนรับวันปีใหม่ เมื่อก่อนนี้ ก่อนปีใหม่จะมาถึง ผู้คนจะจุดประทัดต้อนรับปีใหม่ ประเพณีการจุดประทัดในอดีตก็เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจ แต่เนื่องจากการจุดประทัดทำให้เกิดมลพิษและไม่ปลอดภัย ดังนั้น ในเขตตัวเมืองของเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่นปักกิ่งเป็นต้นจึงห้ามจุดประทัด พอถึงวันชิวอิก ไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้เฒ่าผู้แก่มักจะใส่เสื้อผ้าใหม่ เพื่อต้อนรับแขกหรือไปเยี่ยมญาติและเพื่อน ๆ เวลาพบหน้ากัน มักจะทักทายด้วยคำว่า"สวัสดีปีใหม่"หรือ"สวัสดีตรุษจีน"แล้วจะเชิญเข้าบ้าน กินขนมจิบน้ำชาไป คุยไปด้วย ถ้าระหว่างญาติพี่น้องเคยเกิดการทะเลาะกันหรือความไม่พอใจกันในรอบปีเก่า ก็จะให้อภัยและคืนดีกันหลังจากการเยี่ยมเยือนกันในช่วงเทศกาลตรุษจีน

กิจกรรมในช่วงเทศกาลตรุษจีนมีมากมายหลายอย่าง เช่น การแสดงละครพื้นบ้าน การฉายหนัง การเชิดสิงโต การเต้นระบำพื้นบ้าน การรำไม้ต่อขา และงานวัด ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยบรรยากาศคึกคักสนุกสนาน แต่กิจกรรมที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมทำกันก็คือ การชมรายการโทรทัศน์ที่บ้าน สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ จะจัดรายการมากมายที่เหมาะสมกับผู้ชมแต่ละวัย

การปิดคำกลอนคู่และภาพมงคล การจุดโคมไฟ ก็เป็นประเพณีฉลองตรุษจีนที่สำคัญ ในช่วงเทศกาล ตลาดจะจำหน่ายกระดาษคำกลอนคู่และภาพมงคลสีสันหลากหลายที่เป็นรูปดอกไม้บ้าง สัตว์บ้างและตัวบุคคลบ้าง ที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตผาสุกของประชาชน ให้ลูกค้าเลือกซื้อตามใจชอบ นอกจากนี้ งานโคมไฟก็เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน โคมไฟที่ทำเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ เป็นศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านของจีน บนโคมไฟจะพิมพ์หรือวาดลวดลายต่าง ๆ มีสัตว์ ทิวทัศน์ ตัวบุคคลเป็นต้น และทำเป็นรูปต่าง ๆ

วันตรุษจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของจีนนั้น เป็นวันที่ 1 เดือน 1 ของจีนตามวันทาง จันท-คติ ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของปี และเป็นวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจีนจะแบ่งเวลา 1 ปี เป็น 4 ฤดูคือ ชุง แห่ ชิว ตัง

วันตรุษจีนจะเป็นวันแรกของฤดูชุง หรือฤดูใบไม้ผลิ ตรงกับเดือนที่ 1,2,3 ของปีเป็นช่วงเวลาที่อากาศดีที่สุด คือ ไม่ร้อน ไม่หนาว และไม่มีฝน วันตรุษจีนจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า " วันชุงเจ๋" เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ โบราณ เมื่อหมดหน้าหนาวที่ทำการเพาะปลูกไม่ได้ มาเข้าฤดูใบไม้ผลิที่อากาศดี จะได้เริ่มต้นทำนา ทำสวน

จึงมีการบวงสรวงต่อเทพยดา เซ่นไหว้บรรพบุรุษ อธิษฐานให้ได้พืชผลอุดมสมบูรณ์ ให้กิจการงานก้าวหน้า ตรงนี้น่าจะเป็นที่มาของตำนานการไหว้เจ้าในวันตรุษจีน ที่เรียกว่า "ง่วงตั้งโจ่ย"

การไหว้วันตรุษจีนจะต่อเนื่องกันมาจากวันไหว้สิ้นปี และมีธรรมเนียม การทำความสะอาดบ้านก่อนหน้าอีกด้วย

การดูวันทางจีนจะเป็นแบบจันทรคติ บางเดือนมี 29 วัน เรียกว่าเดือนสั้น หรือบางเดือนมี 30 วัน เรียกว่าเดือนยาว ทำให้ เดือน 12 ของแต่ละปี บางครั้งก็มี 29 วัน บางปีก็มี 30 วัน แต่คนไทยจะติดเป็นความเคยชินว่า วันสิ้นปีจะเป็น วันที่ 31 แต่ของวันจีนจะไม่ใช่ ตรงนี้ต้องระวัง พอใกล้ ๆ จะถึงสิ้นปี ชาวจีนจะนิยมทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ เรียกว่า ล้างบ้านพานหยากไย่กันแทบทุกซอกมุม
ช่วงเทศกาล จะมีการหยุดงาน หยุดกิจการค้า เพื่อทำพิธีไหว้เจ้าที่ ต้องไหว้ 2 วันซ้อน ซึ่งมีไหว้กลางดึกด้วยนอกจากนี้ก็จะได้ใช้เวลาในช่วงนี้ไปเยี่ยมคารวะผู้ใหญ่ญาติมิตรที่เคารพนับถือและเที่ยว พักผ่อน จึงมีสำนวน "วันจ่าย วันไหว้ วันถือ" ให้ลูกไทยแท้สงสัยว่า วันไหนคือวันไหน

วันจ่าย คือ วันก่อนสิ้นปี 1 วัน ใครจะต้องซื้อหาเตรียมของอะไรแล้วยังไม่เรียบร้อย ก็ให้ทำ ให้เสร็จในวันจ่ายก่อนที่ร้านค้าจะหยุดยาว

วันไหว้ คือ การไหว้ในวันสิ้นปี จะเป็นการไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า ตามด้วยการไหว้บรรพบุรุษ ในตอนสาย แล้วไหว้ผีไม่มีญาติในตอนบ่าย ซึ่งการไหว้ผีไม่มีญาตินี้ บางบ้านก็ไม่นิยมไหว้

ส่วนการไหว้วันตรุษจีน เรียกว่า การไหว้วันชิวอิด สำหรับผู้ที่เคร่งธรรมเนียมมาก ๆ จะไหว้ ตามฤกษ์ยามที่ต้องคอยอ่านจาก "แหล่ยิกเท้า" ว่าจะต้องไหว้ "ไช้ซิ้งเอี๊ย" หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภในเวลาอะไร และตั้งโต๊ะไหว้อย่างไร เช่นในปี 2537 ที่ผ่านมา ให้ตั้งโต๊ะไหว้ "ไช้ซิ้งเอี๊ย" ที่หน้าบ้าน ถ้าบ้านมีบริเวณก็ให้ไหว้ที่กลางแจ้ง แล้วหันโต๊ะไหว้ในทางทิศตะวันตก ทำพิธีจุดธูปไหว้ระหว่างเวลา 01.00-03.00 น.

การไหว้ไช้ซิ้งเอี๊ยนี้ เพื่อขอพรท่านให้ครอบครัวของเราโชคดีตลอดปี เมื่อตื่นขึ้นมาในเช้าวันตรุษจีน จึงไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งบางบ้านนิยมไหว้อาหารเจ ส้ม และขนมอี๊ และบางบ้านที่เคร่งธรรมเนียม ผู้ใหญ่จะกินเจ 1 มื้อหรืออาจกินเจทั้งวัน

การจุดเทียนก็เพื่ออวยพรให้ชีวิตรุ่งเรือง

วันถือ คือ วันตรุษจีน โดยถือกันว่าในวันนี้ทุกคนจะพูดและทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล เช่น ไม่มีการพูดว่ากัน แต่จะกล่าวคำอวย พร"ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้" แปลเป็นไทยคือ ขอให้โชคดีปีใหม่นั่นเอง การถืออื่น ๆ ที่นิยมว่าถือกัน เช่น ห้ามจับไม้กวาดกวาดบ้าน เพราะอาจเป็นการกวาดสิ่งดีๆ ในบ้านออกไปแล้วกวาดสิ่งไม่ดี เข้ามา วันถือนี้ บางคนก็เรียกวันเที่ยว ซึ่งคงมาจากธรรมเนียมการแต๊ะเอีย ที่พอลูกหลานและลูกจ้างได้เงินแต๊ะเอีย ที่เปรียบได้กับ โบนัสพิเศษ ก็ไปเที่ยวกัน

อย่างไรก็ตามในวันตรุษจีนถือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ เรียกว่า "ไป๊เจีย"และมีการหิ้วส้มไปแลกเปลี่ยนกัน เพราะส้มนี้มีคำจีนเรียกว่า "ไต้กิก" แปลว่า โชคดี การแลกส้ม จึงมีความนัยว่าเอาความโชคดีมามอบให้แก่กัน พร้อมคำอวยพร โดยนิยมกันว่า เอาส้ม 4 ผล ใส่ผ้า เช็ดหน้าผืนใหญ่มาส่งให้เจ้าบ้าน เจ้าบ้านจะรับไว้แล้วนำส้ม 2 ผล ของแขกขึ้นมาเปลี่ยนเอาส้ม 2 ผล ของที่บ้านผลัดให้แทน บางบ้านที่ใช้ขนมอี๊ไหว้เจ้า ก็อาจมีการเตรียมขนมอี๊ไว้เลี้ยงแขกด้วย

อี๊ คือ ขนมบัวลอยจีน ใช้แป้งข้าวเหนียวนวดจนได้ที่ ผสมสีแดง ซึ่งเป็นสีแห่งมงคล แต่ใส่นิดเดียวพอให้เป็นสีชมพูดูน่ากิน ต้มใส่น้ำเชื่อม ความกลมนุ่มที่เคี้ยวง่ายของขนม มีความหมายว่าให้โชคดี คิดทำสิ่งใดก็ให้ง่ายและราบรื่น

ส่วนธรรมเนียมการแต๊ะเอียนั้น จะมีเฉพาะบ้านที่มีฐานะดี การให้นี้ คือ นายจ้างให้ลูกจ้าง กับให้กันเองในครอบครัวว่าพ่อแม่ให้ลูกหลาน แต่ถ้าลูกได้ทำงานแล้ว หรือออกเรือนแล้ว ก็จะเป็นฝ่ายให้พ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ที่ฐานะดี ก็มักจะแต๊ะเอีย กลับคืนมาในจำนวนที่เท่ากัน หรือเพิ่มให้มากขึ้น ได้แต่จะให้เป็นเงินของพ่อแม่เอง ไม่ใช่เอาเงินที่ลูกให้มานั้นให้กลับคืนมา ส่วนเขย สะใภ้ ตามธรรมเนียมก็ควรให้น้องสามีและน้องภรรยา ส่วนคน ที่มีศักดิ์เป็นลุง ป้า น้า อา ก็ควรมีแต๊ะเอียให้หลาน ๆ เช่นกัน ธรรมเนียมการแต๊ะเอียนี้ ผู้ใหญ่ที่พิถีพิถันจะเอาเงินใส่ซองแดงอย่างมีเคล็ด คือให้เป็น เลขที่ดีที่สุด เรียกว่า "ซี่ลี่" เพราะถือว่าเป็นเลขสิริมงคล ซี่ กับ สี่ คือเลข 4 ซี่สี่ ก็คือ คู่สี่ นั่นเอง
ตัวอย่างการให้แต๊ะเอียเป็นเลข "ซี่สี่" คือ 400 จะเป็นตัวเลข 4 กับแบงก์ร้อย 4 ใบ หรือจะให้เป็น 2 เท่า 3 เท่าของซี่สี่ เช่น 800 , 1200 ก็ได้ อีกเกร็ดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเทศกาลตรุษจีน คือ การเล่นไพ่ โดยเฉพาะการเล่นยี่อิด จะนิยมกันมากผู้ใหญ่หลายท่านถือเอาการเล่นไพ่ ในวันตรุษเป็นเรื่องเสี่ยงทาย ถ้าเล่นได้ก็ถือเป็นเคล็ดว่าตลอดปีใหม่นี้จะเฮงหรือโชคดี และที่พลาดไม่ได้ คือ การติดยันต์แผ่นใหม่ที่หน้าประตูบ้าน เพื่อเป็นสิริมงคลและคุ้มครองภัย

ข้อมูลจากหนังสือ "ตึ่งหนั่งเกี้ย" โดย จิตรา ก่อนันทเกียรติ

http://www.abhidhamonline.org/festival/chin.htm

 

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ ของ ประวัติวันตรุษจีน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook