"ทรงผม" อิทธิพลต่อการศึกษาไทย

"ทรงผม" อิทธิพลต่อการศึกษาไทย

"ทรงผม" อิทธิพลต่อการศึกษาไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ผมเพิ่งวางสายโทรศัพท์จากเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย หลังจากพูดคุยกันยาวนานร่วมชั่วโมง เนื่องจากเพื่อนกำลังหงุดหงิดเรื่องลูกวัยประถมต้นถูกคุณครูทำโทษด้วยข้อหาทรงผมผิดระเบียบ

เธอร่ายยาว คล้ายอยากระบายความรู้สึก "..คิดดูสิ ฉันเพิ่งพาเจ้าป๊อกไปตัดผมเมื่อสองวันก่อน ตัดแบบรองทรงสูงเหมือนทุกที แต่คราวนี้ดันถูกครูฝ่ายปกครองจับ บอกว่าผมยาวผิดระเบียบ...

...ถ้าครูปกครองทำโทษเจ้าป๊อกด้วยการจดชื่อ ตักเตือน หรือทำโทษให้วิ่งรอบสนามฉันก็ไม่ว่าอะไรนะ แต่นี่เขากลับใช้การประจานเด็กให้อับอาย..."
"ประจานยังไง" ผมอดสงสัยไม่ได้
"...เขาตัดผมเด็กทุกคนที่ผมยาวผิดระเบียบ ตัดคนละกระจุก แหว่งไปถึงหนังหัวเลยแหละ ตอนเย็นไปรับลูกกลับบ้าน เห็นแล้วช็อกเลย ลูกร้องไห้โฮเข้ามากอด บอกจะไม่มาโรงเรียนอีกแล้ว เรางี้น้ำตาซึมเลย สงสารลูก ทำไมครูมาทำกับลูกเราอย่างนี้..." ยิ่งพูด อารมณ์ของเพื่อนผมยิ่งขึ้น
ผมเข้าใจความรู้สึกของเจ้าป๊อก...ลูกเพื่อนเป็นอย่างดี เพราะครั้งหนึ่งในชีวิต สมัยเรียนมัธยมผมเคยถูกครูฝ่ายปกครองทำโทษเรื่องผมยาวด้วยการตัดผมเสียแหว่ง น่าเกลียดอย่างเห็นได้ชัด
จำได้ว่าผมอายมาก ยิ่งโดนเพื่อนล้อว่า "ไอ้แหว่ง ไอ้แหว่ง ไอ้แหว่ง" อารมณ์อายกลายเป็นโกรธเจือแค้น วิ่งไล่ชก ไล่เตะเพื่อนที่รุมล้อกระเจิงไปเลย
นั่นเป็นอดีตครับ...ผมไม่คิดว่าปัจจุบันการลงโทษเช่นนี้จะยังมีอยู่ มิหนำซ้ำยังไปเล่นงานกับเด็กเล็กขนาดวัยประถม ทำให้อดตั้งคำถามกับระบบการศึกษาของไทยไม่ได้
อันที่จริงจะว่าไปแล้วระบบการศึกษาไทย เคร่งเครียด จริงจังกับเรื่องระเบียบวินัยเกี่ยวกับทรงผม เครื่องแต่งกายของเด็กมากเกินความจำเป็น ไล่มาตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมหาวิทยาลัยก็ไม่เว้น
เชื่อไหมครับหลายๆ มหาวิทยาลัยถึงกับให้มีอาจารย์ยืนอยู่หน้าประตูสถาบันการศึกษาตรวจจับการแต่งกายของนิสิต นักศึกษา ประเภทว่าใครแต่งกายไม่เรียบร้อย ผิดระเบียบจะถูกห้ามไม่ให้เข้ามหาวิทยาลัย หรือถูกตัดแต้ม หักคะแนนอะไรทำนองนั้น
น่าแปลกใจว่า โมเดลของระบบการศึกษาไทย ที่นักการศึกษาไทยไปลอกหลักสูตรการเรียนการสอนมาจากซีกโลกตะวันตก กลับไม่ได้ซีเรียสจริงจังเรื่องเครื่องแบบ ทรงผมของนักเรียน นิสิต นักศึกษามากเหมือนของไทย
โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ประเทศพัฒนาแล้วแทบปล่อยอิสระให้นิสิต นักศึกษาใช้วิจารณญาณในการแต่งกาย รวมถึงให้เสรีภาพแก่นักศึกษาในการคิด แสดงความคิดเห็น หรือแสดงออกอย่างเต็มที่ แม้ความคิดเห็นนั้นๆ จะขัดแย้ง คัดง้างกับคำสอนของครูบาอาจารย์หน้าห้องก็ตาม อันนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ดีๆ มากมาย
ครับ...นวัตกรรมยิ่งใหญ่มากมายเกิดขึ้นในห้องเรียนที่เป็นอิสระ

แล้วอะไรทำให้การศึกษาไทยบ้าคลั่งเรื่องทรงผม เครื่องแต่งกายของผู้เรียน อยากให้เป็นยูนิฟอร์มแบบเดียวกันหมดล่ะ

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะยุคแรกของการศึกษาไทย ซึ่งเริ่มขยายลงสู่มวลชน เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เป็นการศึกษาบ่มเพาะผู้คน เพื่อคัดสรรบุคลากรป้อนสู่ระบบราชการเป็นหลัก
ด้วยตัวระบบราชการ ผู้คนมักยึดถือกฎ ระเบียบ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในระบบราชการทหาร ซึ่งยึดกุมบริหารประเทศไทยมายาวนาน ยิ่งรังเกียจต่อการตั้งคำถาม หรือการคิดต่าง คิดแปลกของผู้ใต้บังคับบัญชา
กฎระเบียบ ข้อบังคับเรื่องการตัดผมสั้นเกรียน ทรงนักเรียนและเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา อีกนัยหนึ่งคือภาพสะท้อน การเรียนรู้แบบ "อำนาจนิยมในรัฐราชการ" นั่นเอง
แม้ว่าทุกวันนี้ ระบบการศึกษาในสังคมไทยจะขยับก้าวจากการผลิตคนป้อนระบบราชการ เป็นการผลิตคนป้อนสู่ระบบทุนนิยม ซึ่งเน้นการแข่งขัน ต้องการความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร แต่โดยกรอบโครงสร้างการศึกษาตั้งแต่เด็ก เราเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จักการคิดแตกต่าง ให้ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัวแค่ไหนครับ
หลายครั้งที่ผมเห็นเพื่อนครูอาจารย์ในวิชาชีพเดียวกับผม ไล่จับ ทำโทษเด็กแต่งกายผิดระเบียบ ขณะเดียวกันก็เรียกร้อง บ่นว่า ทำนอง "...เด็กพวกนี้ไม่มีความคิดสร้างสรรค์อะไรเลย คิดอะไรไม่เป็น วิเคราะห์อะไรไม่ได้..." เจอทำนองนี้ได้แต่ถอนหายใจให้กับการศึกษาไทย
หลายคนอาจแย้งผมว่า ถ้าไม่มีกฎ ระเบียบเรื่องทรงผม เครื่องแต่งกาย เราอาจเห็นเด็กนักเรียนไว้ผมทรงแปลกประหลาด หรือแต่งเสื้อผ้าสุดเพี้ยน สุดพิเรนมาเรียนหนังสือ
ใช่ครับ...ผมยอมรับว่าอาจเกิดสภาพเช่นนั้น แต่เราน่าจะสอนให้เด็กตั้งแต่เล็กๆ ให้พวกเขาได้คิด ได้ตัดสินใจ ได้ใช้วิจารณญาณเองไม่ใช่หรือว่าอะไรเหมาะควรกับสภาพสังคมแวดล้อม

ขณะที่เราต้องการให้เด็กยุคใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตขับเคลื่อนไปด้วย "Creative Economy" เราต้องเปิดใจกว้าง ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ แหกกรอบ กฎกติกาไร้สาระบางอย่างด้วย ใช่ไหมครับ
หรือเราอยากให้พวกเขาแค่คิดสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบที่เราคุมได้เท่านั้น

โดย

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook