ม.รังสิต เจ้าภาพจัดมหกรรมการแข่งขันพัฒนาเกมระดับนานาชาติ Global Game Jam 2011

ม.รังสิต เจ้าภาพจัดมหกรรมการแข่งขันพัฒนาเกมระดับนานาชาติ Global Game Jam 2011

ม.รังสิต เจ้าภาพจัดมหกรรมการแข่งขันพัฒนาเกมระดับนานาชาติ Global Game Jam 2011
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และสำนักงานวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าภาพการจัดงานมหกรรมการแข่งขันพัฒนาเกมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มจัดรอบปฐมทัศน์ในปี ค.ศ.2008 และเริ่มประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปี ค.ศ.2009 ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมการแข่งขันมากถึง 1,600 คน จาก 23 ประเทศ และในปี ค.ศ. 2010 มีผู้เข้าร่วมถึง 4300 คน จากทุกทวีปทั่วโลก

นายจรูญ เชดเลอร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เมื่อปี 2003 มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดสาขาคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย (Computer Game Multimedia) ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่สังกัดในคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรนี้ หลังจากนั้นสมาคมพัฒนาเกมนานาชาติ (International Game Developers Association: IGDA) จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ เนื่องด้วยความพร้อมระดับนานาชาติในหลายๆ ด้านของมหาวิทยาลัย เช่น คุณภาพของคณะทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านสถานที่และอุปกรณ์ โครงสร้างพื้นฐานทางหลักสูตรวิชาการ และการจัดการความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงความมีชื่อเสียงทางด้านนานาชาติของมหาวิทยาลัยรังสิต

"เทคโนโลยีสารสนเทศ นับเป็นกลไกที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่เบื้องหลังความเป็นนานาชาติ เพราะเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยรังสิตได้นำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เหล่านี้ มาประยุกต์และดัดแปลงเป็นยุทธวิธีในการส่งผ่านความเป็นนานาชาติไปสู่นักศึกษาโดยตรง การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการก้าวสู่ความเป็นนานาชาตินั้นสามารถก้าวไปด้วยกันได้ สำหรับการจัดการแข่งขัน Game Jam ในปี 2553 นั้น มีการจัดแข่งขันมากถึง 147 แห่ง จาก 43 ประเทศทั่วโลก นับว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในการจัดการแข่งขันนั้นจะนำมาซึ่งการเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยโดยผ่านแวดวงอุตสาหกรรมการพัฒนาเกมและจะก่อให้เกิดความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการพิสูจน์ความพร้อม และศักยภาพของมหาวิทยาลัยรังสิตในการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติอีกด้วย" ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ กล่าวเสริม

ดร.ชุณหพงศ์ ไทยอุปถัมภ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหกรรมการแข่งขันพัฒนาเกมระดับนานาชาติ หรือ Global Game Jam 2011 นั้นเป็นงานใหญ่ระดับสากลที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจในการพัฒนาเกมตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงนักพัฒนาเกมระดับมืออาชีพมารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์เกมตามแนวความคิดของตัวเองและนำเสนอแนวทางใหม่ๆ เข้าสู่วงการเกมโลก ซึ่งจัดขึ้นเพียงปีละครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2553 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 4,300 คน จาก 39 ประเทศ ทั่วโลก ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยรังสิต เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global Game Jam 2011 ในครั้งนี้ ว่าเป็นการประกาศความพร้อมในการสรรค์สร้างดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยสู่ระดับสากล และยังสอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่บริบท Creative Economy อีกด้วย

"งานมหกรรมฯ ในครั้งนี้ ไม่เชิงเป็นการแข่งขันแต่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจในการพัฒนาเกมได้มีพื้นที่ได้มีโอกาสในการแสดงออก ซึ่งผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้แสดงความสามารถและแลกเปลี่ยนความคิดในการพัฒนาเกมร่วมกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือมืออาชีพทางด้าน Game Design, Programming, Graphic หรือเป็นเพียงแค่ผู้หลงใหลในเกมที่มีความฝันอยากจะสร้างเกมตามแนวความคิดของตัวเองขึ้นมาสักเกมหนึ่ง งาน GGJ คือโอกาสที่ดีที่สุดที่คุณจะทำความฝันของคุณให้เป็นจริง เป้าหมายของงาน GGJ คือให้ผู้เข้าร่วมงานสร้างเกมตามหัวข้อที่ GGJ กำหนดขึ้นในระยะเวลาที่จำกัดไว้เพียง 48 ชม. ผู้เข้าร่วมการแข่งขันสามารถรวมกันเป็นกลุ่มจำนวนกี่คนก็ได้ ใช้เครื่องมือ เทคนิคหรือวิธีการในการพัฒนาใดๆ ก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดอื่นใด นอกจากระยะเวลาในการพัฒนา เนื่องจากระยะเวลาที่สั้น เกมที่เสร็จในระยะเวลาเพียงเท่านี้จึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นเกมที่สมบูรณ์พร้อม แต่ควรจะสามารถเล่นได้นานเพียงพอที่จะทำให้ผู้เล่นเข้าใจถึงลักษณะการเล่น ความสนุกของเกม และจุดมุ่งหมายของเกมตามที่ผู้สร้างได้ตั้งใจออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น" ดร.ชุณหพงศ์ กล่าวเสริม

ด้าน อาจารย์เอกพงษ์ นพวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเตรียมงานสำหรับมหกรรมการแข่งขันในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนพิธีเปิดและการเสวนา ส่วนการแข่งขัน และส่วนสุดท้ายคือพิธีปิด

"สำหรับพิธีเปิดทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้เรียนเชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยมาเพื่อร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดและมีการจัดการเสวนาเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเกมตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย เนื่องจากลักษณะการแข่งขันที่แตกต่างจากการแข่งขันพัฒนาเกมโดยทั่วไป พื้นที่สำหรับการจัดงานต้องมีการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เข้าร่วมตลอดการแข่งขันซึ่งจะใช้เวลาแข่งขันติดต่อกันนานถึง 48 ชม. ทางมหาวิทยาลัยจึงจัดการแข่งขันที่ Sky Cyber Lounge ชั้น 14 อาคารรัตนคุณากร เพราะมีพื้นที่กว้างขวางและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงาน เก้าอี้สำหรับทำงาน โซฟาสำหรับพักผ่อน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดี และในขณะนี้ก็มีการจัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ไปแล้วกว่า 75% โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะทำงานมหาวิทยาลัยรังสิต และผู้ให้การสนับสนุนจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างดี ครั้งนี้นับเป็นการจัดมหกรรมการแข่งขันพัฒนาเกมฯ ระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกในประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิตจึงจัดให้มีงานเลี้ยงอำลาพร้อมพิธีปิด เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์และเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าแข่งขันที่มาจากที่ต่างๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ และคณะทำงาน เพราะการร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ ไม่เน้นการแข่งขัน แต่เป็นการมาแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ฝึกการระดมสมองและทำงานเป็นทีมกันมากกว่า" อาจารย์เอกพงษ์ กล่าวเสริม

แม้มหกรรมการแข่งขันพัฒนาเกมระดับนานาชาติ Global Game Jam 2011 ในครั้งนี้ จะไม่มีการตัดสินผลแพ้ชนะอย่างเป็นทางการ แต่ในแต่ละประเทศที่มีการจัดการแข่งขันมักจะมีการมอบของรางวัลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้เข้าร่วมที่ทำผลงานได้ดีที่สุด ทางผู้จัดงานจึงจัดให้มีการมอบรางวัลให้กับทีมที่ผลงานโดดเด่นในซึ่งได้แก่ ทีม World's End: Running จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับได้ว่ามหกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้ที่หลงใหลการพัฒนาเกมตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงนักพัฒนาเกมระดับมืออาชีพมารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์เกมตามแนวความคิดของตัวเองและนำเสนอแนวทางใหม่ๆ เข้าสู่วงการเกมโลกเลยทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook