พร้อมรับมือเมื่อไปเรียนเมืองนอก

พร้อมรับมือเมื่อไปเรียนเมืองนอก

พร้อมรับมือเมื่อไปเรียนเมืองนอก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก่อนจะส่งบุตรหลานไปเรียนต่อต่างประเทศ หลายคนอาจจะต้องคิดเสมอนะคะว่า ไปแล้วได้อะไร แล้วถ้าไปถึงที่นั่นแล้ว ลูกเราจะดูแลตัวเองได้ไหม หรือมีอะไรน่าห่วงบ้าง วันนี้เรามีคำสัมภาษณ์พิเศษจาก ม.ร.ว. ดำรงดิศ ดิศกุล ถ่ายทอดการไปเรียนต่อต่างประเทศกับการใช้ชีวิตให้เป็นมาฝากค่ะ

Q: แนะนำตัวและตำแหน่งที่รับผิดชอบในปัจจุบัน

A: ม.ร.ว.ดำรงดิศ ดิศกุล ปัจจุบันก็ทำงานเป็นกรรมการบริษัทมณียากรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับ real states แล้วก็ขายสินค้าที่ Import เข้ามา ผมยังสนใจทางด้านการเมืองด้วย แต่เนื่องจากตอนนี้การเมืองยังไม่แน่ชัด เลยไม่ขอกล่าวถึงดีกว่า

Q: จากตำแหน่งหน้าที่การงานของท่านก็สามารถเป็นเครื่องการันตรีว่าท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมากคนหนึ่งและส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ท่านไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ตามที่เราทราบกันดี แล้วทำไมถึงเลือกไปเรียนที่สหรัฐฯ

A: ตอนนั้นเรียนจบ ม. 6 แล้วตอนนั้นถ้าไปเรียนที่สหรัฐฯ ก็จะสามารถต่อเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย แต่ถ้าไปเรียนทางพวกอังกฤษแล้วก็ต้องไปสอบพวก Verbal ซึ่งก็จะทำให้เสียเวลา แล้วทางสหรัฐฯ นี้ ทางด้าน concept ของเขาก็คือ คนที่เรียนภาษาอังกฤษกับเขาไม่จำเป็นต้องพูดได้เหมือนคนพื้นเมือง เพียงแต่แค่เราสามารถอ่านออกเขียนได้ให้เขาเข้าใจก็สามารถที่จะผ่านได้

Q: ท่านได้มีการวางแผนและเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนไปเรียนที่สหรัฐฯ อย่างไร

A: ในสมัยนั้นก็ได้มีการปรึกษากับ ก.พ. ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลนักเรียนที่จะไปศึกษาต่อต่างประเทศ

Q: ท่านเรียนจบทางด้านไหน

A: ปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์ ปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ ที่สหรัฐฯทั้ง 2 ที่

Q: ตอนช่วงแรกๆที่ท่านไป เจอปัญหาและอุปสรรคอย่างไรบ้างและมีวิธีการรับมือกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร

A: ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอก็คือ เรื่องการสื่อสาร ถึงแม้ว่าตอนเรียนมัธยมจะมีครูชาวอังกฤษมาสอน แต่สำเนียงการออก Pronunciation ของเรามันไม่ได้ อย่างเวลาเราพูดหรือออกเสียงนั้น เขาก็จะฟังไม่รู้เรื่องเลย อย่างเช่น จะไป St. Louis เราบอกว่า I want to go to St. Louis (พูดไม่มี accent) เค้าก็งงว่าที่ไหน ซึ่งผมก็อ๋อ! ต้องพูดว่า St. Louis (พูดมี accent) แต่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ดีอย่างหนึ่ง คือว่าจะมีคนจากหลายประเทศอยู่ในสหรัฐฯ ดังนั้น เขาจึงพยายามที่จะเข้าใจเรื่องสำเนียงภาษาเป็นอย่างมาก และพยายามที่จะช่วยแก้ไขให้แก่เรา

Q: ระหว่างที่เรียน ท่านมี Lifestyle ระหว่างเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

A: ในสมัยนั้นนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ต้องทำงานกันทั้งนั้น พอไปถึงเราจะต้องจัดเวลา พอเรียนเสร็จ เราก็ต้องทำงาน ซึ่งก็มีการรับจ้างแบกหามบ้าง ซึ่งตอนอยู่เมืองไทยก็ไม่เคยทำเลย ก็ไปแบบลูกคุณหนู แล้วก็ยังมี International Student Club ซึ่งก็จะช่วยนักเรียนต่างหางานด้วย อย่างผมเรียนคณิตศาสตร์ ก็ไปอาสาสอนเลขนักเรียนต่างชาติคนอื่น ก็ถือว่ารายได้ใช้ได้ ก็ชั่วโมงละ 5-10 เหรียญเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เลยบอก โห่!!สบายเลย

Q: การทำงานยังได้ทำให้ได้ประสบการณ์ที่ต่างจากการเรียนในเมืองไทย

A: จริงๆ แล้วการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเสิร์ฟอาหารหรือเก็บโต๊ะเป็นงานที่บริสุทธิ์ ไม่มีอะไรที่น่าอาย แล้วก็เป็นความภูมิใจอย่างเวลาที่เราจะไปเที่ยวในช่วงหยุดพัก เราก็สามารถไปได้ด้วยเงินของเราเอง

Q: สิ่งที่ท่านคิดว่าเป็นประสบการณ์และแนวความคิดที่หาไม่ได้จากเมืองไทย

A: จริงๆ แล้วมีหลายอย่าง โดยเฉพาะแนวความคิดของคนอเมริกัน เช่น คนอเมริกัน สอนให้ลูกเขาช่วยเหลือตัวเอง สอนให้หาเงินด้วยตัวเอง ทำให้ความคิดเขาโตกว่าเด็ก ของเราในด้านต่างๆ เช่น เขาอาจจะมองเรื่องต่างๆในแง่ของความเป็นจริงมากกว่าเรา อย่างเช่น ในสมัยนั้นที่ผมไป เป็นช่วงที่เขากำลังขับไล่ประธานาธิบดีนิกสัน เรื่อง Watergate ที่มีการลักลอบเอาเครื่องบันทึกเทป ไปแอบฟังฝ่ายตรงข้ามในวิธีการหาเสียงต่างๆ ผมก็ถามเพื่อนอเมริกันว่า ทำไมเขาถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งที่จริงการแอบฟังก็เป็นเรื่องที่มีกันอยู่ทั่วไปทุกสังคม เขาก็บอกว่า การดักฟังเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่คนที่ทำแล้วโง่ให้คนจับได้ ไม่สมควรเป็นประธานาธิบดี (หัวเราะ) ซึ่งเขาก็พูดกันตรงๆ และมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น อย่างในประเทศเรา ตอนที่มีการอภิปรายนายกฯ ทักษิณ นักศึกษาจุฬาธรรมศาสตร์ เขาก็มาเซ็นชื่อว่า ต้องการให้มีการตรวจสอบนายกฯ ซึ่งนี่เป็นทางเดินตามแบบประชาธิปไตย ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง แม้ว่าผมเป็น ส.ส. ผมยังรู้สึกเห็นด้วยในการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตย

Q: ท่านไปเรียนที่ สหรัฐฯ นานเท่าไร

A: ผมใช้ชีวิตที่นั่น ทั้งหมด 6-7 ปี

Q: ช่วยเล่าถึงประสบการณ์ความประทับใจในช่วงระหว่างที่เรียน

A: อย่างที่เรียนให้เรียนทราบ ก็คือ ในเรื่องของทักษะการแสดงความคิดเห็นของคนอเมริกัน ว่าแม้กระทั่งประธานาธิบดีเอง ประชาชนก็มีส่วนร่วม ถ้าเขาคิดว่าไม่ควรอยู่ ประชาชนก็มีส่วนที่จะลงชื่อขับไล่ จนในที่สุดประธานาธิบดีนิกสันก็ต้องลาออกไปเอง นอกจากนั้น ก็คือการได้มีโอกาสหาเงิน ก็ไปเที่ยวทั่วอเมริกา ซึ่งก็รู้สึกว่าง่ายแล้วก็สะดวก เพราะทั่วอเมริกาก็ใช้ภาษาอังกฤษเหมือนกันหมด แต่สำเนียงก็จะแตกต่างกันบ้าง ก็มีฟังไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็สามารถที่จะเดินทางท่องเที่ยวแล้วก็คุ้นเคยกับสภาพต่างๆ และเห็นถึงวิธีการรักษาธรรมชาติ เพราะว่าฝรั่งเขาจะให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมมาก และทุกอย่างประชาชนก็จะมีส่วนร่วมหมด อย่างเช่นเรื่องโรงงานปล่อยน้ำเสียลง เขาก็จะจัดการเองเลย คือวิธีการเขาอาจจะไม่ยุ่งยากเท่ากับบ้านเรา แต่มีการแสดงส่วนร่วมที่ชัดเจนกว่าอยู่ในกรอบมากกว่า

Q: ท่านได้ทั้งความภูมิใจในตนเองที่สามารถหาเงินได้เป็นค่าขนมบ้าง ได้เดินทางไปท่องเที่ยว และได้มีประสบการณ์ทำงานที่เป็นประโยชน์

A: ก็อย่างวันนี้ ถ้าลองไปนึกถึงเพื่อนเก่าๆ ที่คุ้นเคยกันเรียนด้วยกันที่อเมริกา ตอนนี้ก็เป็นใหญ่เป็นโต รู้สึกว่ารุ่นพี่นี่ก็เป็นปลัดกระทรวงด้วย พวกนี้ทุกคนก็ทำงานกันหมด ซึ่งมาจากตระกูลที่บอกมาปั๊บทุกคนก็รู้จักหมด เขาอาจเคยทำงานรับจ้างจอดรถใน Parking ที่อเมริกา ซึ่งทุกคนก็ทำงานกันหมดและคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เราก็อยากให้เด็กๆ ทุกคนเริ่มทำงานบ้าง เริ่มจากเล็กๆน้อยๆ อย่างน้อยจะได้รู้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ไม่ได้หามาง่ายๆ

Q: สุดยอดแนวความคิดที่ได้จากการเรียนที่สหรัฐฯ และข้อคิดฝากถึงนักเรียนที่วางแผนจะไปเรียนที่สหรัฐฯ

A: สิ่งแรกคือ เลิกเป็นคนขี้อาย ให้กล้าพูดไป คือผิดๆ ถูกๆ ก็พูดไป แล้วเดี๋ยวสักวันก็ถูกไปเอง เพราะถ้าไม่พูดเลยก็จะไม่มีวันได้พัฒนา ดังนั้น ถ้าน้องๆ เตรียมตัวไปก็ขอให้ทำตัวให้กล้า และพยายามที่จะทำอะไรบ้าง และที่สำคัญคือ เราไม่มีโอกาสมากแค่ 10 ปี หรือ 6 ปี ที่จะได้หาเพื่อนต่างชาติ อย่างถ้าเป็นช่วง Summer ก็พยายามคบเพื่อนไว้ และถ้ามี migration ตอนไหน ก็ให้ย้ายไปอยู่บ้านเพื่อนทีเป็นคนต่างชาติ เราจะได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ที่มา : www.infolearning.co.th

 

กด Like เพื่อติดตามเรื่องเด็ดๆ โดนๆ จากทีมงาน Sanook! Campus

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook