ดูแล "น้ำ" ของโลก...หนึ่งวิธีรอมชอมกับธรรมชาติ

ดูแล "น้ำ" ของโลก...หนึ่งวิธีรอมชอมกับธรรมชาติ

ดูแล "น้ำ" ของโลก...หนึ่งวิธีรอมชอมกับธรรมชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นที่ทราบกันดีว่า "น้ำ" ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นทรัพยากรที่ไม่หมดสิ้น เกิดใหม่ได้เสมอ แต่เราก็ควรต้องดูแลรักษา ซึ่งในวันที่ 22 มีนาคมของทุกปี สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันนั้นเป็น "วันน้ำของโลก" หรือ "World Day for Water" โดยเริ่มต้นในปี 2536 เป็นปีแรก เพื่อให้ทุกประเทศได้ระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก

แม้จะมีการกระตุ้นเตือนหรือรณรงค์ต่างๆ แต่คุณภาพของน้ำก็กลับสวนทางกัน อาจเป็นผลมาจากกาลเวลาได้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา ส่งผลให้เกิดมลพิษมากมายรอบตัวเราและทวีความรุนแรงขึ้น มนุษย์เราเห็นความสำคัญของน้ำลดลง จนละเลยการดูแลเอาใจใส่ ถึงขั้นเกิดการเน่าเสียในแม่น้ำ ลำคลอง และปัญหานี้ได้แพร่กระจายวงกว้างไปในหลายๆ ประเทศ ซึ่งนั่นรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย

หากยังคงปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับทรัพยากรสำคัญอย่าง "น้ำ" แล้วละก็ ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นเราก็ไม่อาจคาดเดาได้ แต่ในมุมเล็กมุมหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี มีการจัดการกับปัญหาของแม่น้ำเน่าได้อย่างน่าภูมิใจ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ภายใต้ชื่อโครงการ "แม่น้ำสุขภาพดีที่ปราจีนบุรี" โดย นางบุษบงก์ ชาวกัณหา ผู้จัดการศูนย์พัฒนากิจกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรี เล่าให้ฟังว่า เราประสบกับปัญหาแม่น้ำเน่าเสีย ปลาในแม่น้ำลอยหัวตายเต็มไปหมด ปลาในกระชังของชาวบ้านก็ได้รับความเสียหายอย่างมาก จากการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษพบว่าสาเหตุที่ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลงมาจากการระบายน้ำจากประตูน้ำคลองสารภี ซึ่งน้ำที่ระบายออกมามีความสกปรกมากและมีค่าออกซิเจนละลายในน้ำเกือบเป็นศูนย์ อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้อินทรียวัตถุมากองรวมกันที่ท้ายน้ำจำนวนมาก ทำให้ดึงค่าออกซิเจนในน้ำให้ลดต่ำลงอีก ซึ่งนั่นก็แปลว่าต้องเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ต้องอาศัยแม่น้ำสายนี้ในการดำรงชีวิตเป็นแน่

"เราคงรอช้าให้หน่วยงานราชกาลมาช่วยเหลือไม่ทันการ จึงรวมตัวกันไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนากิจกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรี ภาคีประชาคมลุ่มน้ำปราจีนบุรี ภายใต้โครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาระบบการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมถึงสร้างเครือข่ายรณรงค์อนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำปราจีนบุรีให้เกิดขึ้น นั่นคือจุดเริ่มต้น" บุษบงค์กล่าว

นางบุษบงค์ ยังกล่าวต่อว่า กิจกรรมหลักๆ ที่ทำขึ้นนั้น มีการจัดฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อใช้ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ จัดตั้งระบบเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำ และสร้างเครือข่ายของชุมชนเชื่อมโยงกันตลอดลำน้ำจำนวน 10 ตำบลที่แม่น้ำปราจีนบุรีไหลผ่านตลอดทั้งปี โดยประยุกต์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนผสมผสานกับความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่ ด้วยการวัดคุณภาพน้ำอาทิตย์ละ 1 วัน เช้า- เย็น การจัดทำแผนที่เฝ้าระวังแหล่งกำเนิดมลพิษของแม่น้ำปราจีนบุรี ด้วยการทำการสำรวจแบบเดินดินร่วมกันของแกนนำชุมชนและเด็กนักเรียนในโรงเรียน กิจกรรมการจัดทำการแจ้งข้อมูลข่าวสารคุณภาพแม่น้ำแก่สาธารณะในชุมชน และกิจกรรมการรณรงค์เก็บกวาดทำความสะอาดแม่น้ำในวันสำคัญๆ เทศกาลสำคัญๆ อย่างต่อเนื่อง

"ปัจจุบันหลังจากที่เราทำโครงการ คุณภาพของแม่น้ำปราจีนบุรีดีขึ้นมาก แต่ถ้าพูดเรื่องความใสสะอาดคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสิ่งสำคัญหนึ่งที่ตนเห็นว่ามันเกิดขึ้นและจะยั่งยืน นั่นคือ ความร่วมมือและความสามัคคีกันของคนในชุมชน ซึ่งตนมองว่าเมื่อเกิดปัญหาและสามารถดึงกันเข้ามาเพื่อทำกิจกรรม เข้ามาคุย มาร่วมแก้ปัญหา หันหน้าเข้าหากัน เอาข้อมูลมาแย้ง มาร่วมกันแชร์ ว่าเราจะร่วมมือกันหาทางออกอย่างไร และเมื่อเค้าทำกันได้ในทุกครั้งที่เกิดปัญหาใดๆ นอกจากปัญหานั้นจะหมดไปแล้ว ยังเกิดเป็นพลังเพื่อทำให้ชุมชนยั่งยืนอีกด้วย แล้วความสุขก็จะตามมาอีกด้วย" นางบุษบงค์ กล่าวทิ้งท้าย

นี่ถือเป็นชุมชนตัวอย่างที่ชุมชนอื่นที่ประสบปัญหาคล้ายๆ กันน่าจะนำเอาไปปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาภายในชุมชน หากแต่ทุกชุมชนสามารถอนุรักษ์แม่น้ำลำคลองได้ทุกสาย ชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศก็จะดีตามไปด้วย แต่นั่นอาจจำเป็นต้องใช้เวลา แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ นั่นคือไม่ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง และเมื่อพบเห็นขยะก็ช่วยกันเก็บไปทิ้ง หากพวกเราช่วยกันเพียงแค่นี้ เราก็จะมีน้ำที่มีคุณภาพดีในการอุปโภค บริโภคกันแล้ว และคุณภาพชีวิตของเราทุกคนก็จะดีตามไปด้วย

เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

ภาพประกอบ : www.photos.com

กด Like เพื่อติดตามเรื่องเด็ดๆ โดนๆ จากทีมงาน Sanook! Campus

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook