ความหลากหลายของระบบการคัดเลือก

ความหลากหลายของระบบการคัดเลือก

ความหลากหลายของระบบการคัดเลือก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกคนต้องตระหนักและเข้าใจตรงกันก็คือ ณ ปัจจุบันองค์กรหรือหน่วยงานกลางที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างกฎกติกามารยาทการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย

หลายคนที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยอาจสับสนหรือมึนงงกับระบบการสมัครเข้ามหาลัยในปัจจุบัน ซึ่งนับว่ามีความหลากหลายรูปแบบ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยโดยส่วนใหญ่มีระบบการรับผสมผสานปนเปกันไป นอกจากนั้นยังอาจมีการกำหนดช่วงเวลาการรับสมัครที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย ดังนั้นจึงควรติดตามข้อมูลข่าวสารและทำความเข้าใจกันให้ดี เพื่อป้องกันความผิดพลาดและสร้างโอกาสให้มากขึ้น

ประเด็นสำคัญและจำเป็นที่นักเรียนทุกคนต้องตระหนักและเข้าใจตรงกันก็คือ ณ ปัจจุบันองค์กรหรือหน่วยงานกลางที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างกฎกติกามารยาทการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย คือ ที่ประชุมอธิการอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้กำกับดูแลในภาพรวมการรับสมัครนักศึกษาในแต่ละปีการศึกษาและรวมถึงในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งระบบการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยแบบรับตรง โควตา และระบบกลาง และที่ประกาศเป็นทางการล่าสุด ก็คือ ระบบการรับตรงกลาง ซึ่ง ทปอ.ได้แจ้งรายละเอียดรายวิชา ช่วงวันเวลาในการสอบประจำปีการศึกษา 2555 ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดสอบคือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติหรือ สทศ. โดยกำหนดการสอบไว้ในช่วงเดือน มกราคม 2555 เป็นการสอบ 7 รายวิชา โดยคะแนนดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการคัดเลือกโครงการรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัยได้ ทั้งนี้แต่ละสถาบัน/มหาวิทยาลัย คณะ สาขาวิชาเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเอง แบ่งกลุ่มได้ดังนี้

กลุ่มแรก ใช้คะแนนจากการสอบ 7 วิชาในเดือน มกราคม 2555 + จัดสอบเอง + คะแนน GAT/PAT เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ยกตัวอย่างเช่น บางคณะขอรับตรงแบบปกติของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มที่สอง ใช้ผลคะแนนจากการสอบ 7 วิชาในเดือน มกราคม 2555 + คะแนน GAT/PAT โดยกลุ่มนี้ จะใช้คะแนน GAT PAT ในเดือนตุลาคม (1/2555) เป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น โครงการรับตรง โควตาพิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากร

กลุ่มที่สาม ใช้คะแนน GAT/PAT+ การจัดสอบเอง อาทิ โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการจัดสอบเองในเดือน ตุลาคม 2554 และพิจารณาคะแนน GAT PAT ในเดือน ตุลาคม ประกอบด้วย โครงการรับตรงคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการรับตรง คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นต้น

กลุ่มที่สี่ ใช้ผลคะแนน GAT/PAT พิจารณาเพียงอย่างเดียว เช่น โครงการรับตรงแบบปกติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มที่ห้า เป็นกลุ่มที่ดำเนินการการจัดสอบเอง โดยส่วนมากเป็นการดำเนินการรับนักศึกษาเอง เช่น โครงการรับตรงทั่วประเทศ และโควตา 17 จังหวัดภาคเหนือของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โครงการรับตรงคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการรับตรงคณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (บางสาขา) มหาวิทยาลัยศิลปากร โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นอาทิ

กลุ่มสุดท้าย ใช้ผลคะแนนการสอบ 7 รายวิชาซึ่งจัดสอบในเดือน มกราคม 2555+ การจัดสอบวิชาเฉพาะเอง เช่น การรับนักศึกษาคณะแพทย์ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)

ทั้งนี้ในการรับนักศึกษาดังกล่าว สถาบัน/มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะเข้าร่วมระบบประมวลผลกลาง การรับตรง หรือระบบเคลียร์ริ่งเฮ้าส์และ สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) ได้ประกาศกำหนดการการรับตรงกลาง ในแต่ละช่วงเวลาดังนี้ คือ (1) เปิดรับสมัครสอบ 7วิชา ระหว่างวันที่ 1-30 ตุลาคม 2554 ผ่านเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th (2) ดำเนินการจัดสอบระหว่างวันที่ 7-8 มกราคม 2555 (3) และประกาศผล 5 กุมภาพันธ์ 2555 โดยที่ค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบรายวิชาละ 100 บาท และสามารถนำผลการสอบไปใช้ได้ในระยะเวลา 1 ปีเท่านั้น

สำหรับการเข้าร่วมของสถาบันหรือมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการยังอยู่ในช่วงการตกลง และถกเถียงประเด็นการใช้เกณฑ์การพิจารณาการคัดเลือกและสรุป ทั้งนี้บรรดานักเรียนที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2555 หรือปีการศึกษาหน้าต้องติดตามและพลาดไม่ได้โดยเด็ดขาด ด้วยความหลากหลายของระบบและเงื่อนไขการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังกล่าว หลายคนอาจสับสนและเลยมาถึงเครียด ด้วยเหตุที่ว่าไม่รู้จะตัดสินสมัครในระบบ หรือโครงการใดจึงจะถูกต้องเหมาะสมและไม่ผิดพลาด ซึ่งโดยข้อเท็จจริงเป็นเรื่องยากที่จะบอกกล่าวว่าอะไรดี ไม่ดี หรือไม่น่าจะเหมาะสม แต่เอาเป็นว่า ด้วยระบบหรือเงื่อนไขที่หลากหลายดังกล่าว ถือเป็นช่องทางหรือทางเลือกที่เปิดกว้างให้นักเรียนได้มีโอกาสเลือก มหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา รวมถึงคณะและสาขาวิชาที่หลากหลาย และเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ทดลองหรือพิสูจน์ตัวเองว่า สาขาวิชาหรือหลักสูตรในบางหลักสูตรมีความเหมาะสมกับทักษะ ความรู้ ความสามารถหรือความเชี่ยวชาญสำหรับตนเองมากน้อยเพียงใด และอะไรคือความถนัดหรือความรู้ที่น่าจะเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด

นอกจากนี้ด้วยเงื่อนไขและระบบการรับที่มีความหลากหลาย รวมถึงช่วงเวลาของการรับที่อาจมีความแตกต่างกันก็ยังมีส่วนช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าจะเลือกเรียน/เลือกสมัครในสถาบันที่อยู่ใกล้ภูมิลำเนาหรือไกลออกไป และมีความเหมาะสมกับค่าใช้ในการศึกษา ที่พัก การเดินทางมากน้อยเพียงใด หรือคุ้มหรือไม่กับการลงทุนทั้งเวลาและเงินทุน

โดยที่ปัจจัยและองค์ประกอบในการตัดสินใจเลือกคณะวิชา สาขาวิชาหรือหลักสูตร รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเรียน ผู้เรียนควรคิดคำนวณให้ดีว่าเหมาะสมหรือความคุ้มค่า เพื่อจะได้เป็นการประเมินตนเองด้วยว่า การเรียนสาขาวิชาดังกล่าวจะสร้างประโยชน์หรืออนาคตของตนได้อย่างไรบ้าง...ทั้งหลายทั้งปวงจำเป็นต้องนำมาคิดและทบทวนน่าจะเป็นการดีกับโอกาสทางการศึกษาสมัยใหม่ที่เปิดกว้างและมิได้จำกัดเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา......

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ณัฐพงศ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook