10 วิธีหยุดนิสัยชอบแก้ตัว

10 วิธีหยุดนิสัยชอบแก้ตัว

10 วิธีหยุดนิสัยชอบแก้ตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนเรามีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดและผลักไสความผิดของตัวเองไปให้ไกลติดตัวมาตั้งแต่เกิด เมื่อไหร่ก็ตามที่แต่ละคนค้นเจ้าสัญชาตญาณนี้จนเจอ คุณก็มักจะติด (addict) และใช้มันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนเรียกได้ว่าเป็นนิสัย ต่อมาพอหนักข้อขึ้น ก็เกิดเป็นปัญหาค้างคาใจว่าทำไมถึงเลิกไม่ได้เสียที

คุณเป็นคนประเภทอ้างโน่นอ้างนี่เพื่อแก้ตัวหรือเปล่า...

ถ้าไม่ใช่จริงๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใช่แล้วยังแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ด้วยการชักแม่น้ำทั้งห้ามาช่วยเพื่อปัดปัญหาทั้งหมดให้คนอื่นรับรับช่วงไป เพื่อนร่วมงานคนไหนจะอยากทนอยู่กับคุณ

นี่คือ 10 ขั้นตอนไม้ตายที่จะทำให้นักปัดความรับผิดชอบกลายเป็นสุภาพบุรุษคนใหม่ ที่กล้าจะยกธงขาวค้างไว้ แล้วพูดว่า "โอเค ผมพลาดเอง"

1. สังเกตพฤติกรรมตัวเอง : ลองสังเกตดูว่า คุณปัดความผิดของคุณเองและโยนให้คนอื่นบ่อยแค่ไหน ยิ่งถ้าคุณอยู่ในฐานะหัวหน้าหรือหัวเรือใหญ่คงไม่มีใครอยากทำงานกับเจ้านายที่ชอบโยนความผิดให้กับลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานแน่ๆ

2. กล้ารับความจริง : เหมือนกับการแก้ไขนิสัยอันไม่พึงประสงค์ทั่วไป ไม้ตายที่สองที่ควรงัดมาใช้ ก็คือการเปิดใจยอมรับความจริงว่าคุณเป็น ‘ผู้ใหญ่มีปัญหา' อย่ามัวแต่วางเฉย ผัดวันประกันพรุ่ง หรือเอาแต่ปล่อยให้เวลาคลี่คลายปัญหาทุกอย่างเอง

3. ยอมรับคำวิจารณ์เก่าๆ : นอกจากยอมรับความจริงแล้ว ใช่ครับ คุณต้องยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ผ่านมาด้วย อย่างไรเสียก็อย่าปล่อยให้มันเข้ามาทำลาย Self-esteem หรือทำให้คุณสูญเสียความมั่นใจมากเกินไปจนกลายเป็นคนที่มีจิตใจไม่มั่นคง ถูกครอบงำได้ง่าย และสุดท้ายก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง

4. ทลายกำแพงให้ได้ : ถ้าในยิมที่เราเล่นอยู่เดิมมีคนเล่นเยอะ แพง แถมที่จอดรถยังสุดแสนจะห่วย จงหาที่ใหม่และหาแรงจูงใจในการเปลี่ยนนิสัยให้ได้ เช่นเดียวกันกับการปรับตัวสู่พฤติกรรมที่เป็นเรื่องท้าทาย จงกล้าที่จะทลายกำแพงเดิมๆ ให้ได้ แล้วหาทางออกด้วยวิธีการใหม่ๆที่ห่างไกลจากวิธีเดิมในทันที

5. อย่ากลัวเสียหน้า : หยุดพารานอยด์ อย่ากลัว และกล้าที่จะเสียหน้าเมื่อต้องทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่คุณเคยทำและเคยเป็น

6. สร้างมาตรฐานของคุณขึ้นมา : เมื่อเริ่มตระหนักได้ว่าการแก้ตัวมีโทษหนักเท่ากับการกล่าวอ้างหรือการพูดโกหก คุณอาจจะสร้างมาตรฐานของตัวเองขึ้นมาว่า ในช่วงแรกคุณสามารถหลุดออกนอกกรอบหรือนอกแถวได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก่อนจะเข้าสู่ขั้น Advance ที่ไม่มีการแต่งเติมบทสนทนาและทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกอึดอัดใจกับคุณน้อยลง

7. ใช้สูตรการเล่นใหม่ ‘Speak, then shut up' : เรียนรู้ที่จะกล่าวคำขอโทษโดยปราศจากข้อแก้ตัวพ่วงท้าย สิ่งที่คุณควรจะพูดออกมาคือคำขอโทษแค่เพียงอย่างเดียว แต่ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่คุณไม่ผิด คุณก็สามารถที่จะถกเถียงด้วยเหตุผลโดยไม่จำเป็นต้องต่อความยาวสาวความยืดใดๆ

8. บำบัดกลุ่มด้วยการหากระจกสะท้อน : เราไม่ได้บังคับให้คุณเข้าคอร์สบำบัดอาการชอบแก้ตัวที่ไหนเพราะถ้าจะพูดกันตามนิสัยของคนไทย ไม่มีใครอยากจะยอมให้คนแปลกหน้าเข้าหาจุดบกพร่องของตัวเองในวงสนทนา แต่นี่เป็นวิธีการที่เรียกว่า ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่' โดยสิ่งที่คุณจะสามารถทำได้คือการสังเกตพฤติกรรมของคนที่มีนิสัยคล้ายๆ กัน แล้วคุณจะพบว่าคุณคนเดิมในอดีตนั้นช่างไม่น่าคบเอาเสียเลย

9. ขอให้คนรอบข้างช่วย : เคยใช้วิธีนี้ไหมครับ ขอให้เพื่อนนัดเวลาคุณก่อนเพื่อนคนอื่นๆ สักประมาณครึ่งชั่วโมง ในกรณีที่คุณมักจะมาสายและมาเป็นคนสุดท้ายเมื่อทุกคนรวมตัว เรื่องนิสัยแก้ตัวก็เหมือนกันคุณคงต้องขอให้เพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานที่น่าไว้ใจช่วยกันจับตามองว่าคุณมีวิธีการเลือกที่จะใช้เหตุผลในการแก้ตัวอย่างไร เป็นเหตุเป็นผลไหม หรือโยนความผิดให้ใครไปบ้างในแต่ละวัน

10. เซ็นสัญญากับตัวเอง : พิมพ์หรือเขียนเป้าหมายคุณลงในกระดาษ กำหนดเดดไลน์ พร้อมทั้งลงวันที่ และเซ็นชื่อว่าคุณจะต้องทำให้ได้ โดยที่อาจจะมีเพื่อนสักคนมามาช่วยเซ็นรับรอง

ที่มา : นิตยสาร GM

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook