10 ข่าวเด่นการศึกษาไทยในรอบปี 54

10 ข่าวเด่นการศึกษาไทยในรอบปี 54

10 ข่าวเด่นการศึกษาไทยในรอบปี 54
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในรอบปีที่ผ่านมา มีเรื่องราวผ่านเข้ามาในแวดวงการศึกษามากมาย และข่าวต่อไปนี้ จัดได้ว่าเป็น 10 ข่าวเด่นในรอบปี 2554 วันนี้ ศูนย์ข่าวการศึกษาไทยจะย้อนไปดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจเหล่านั้นกันอีกครั้งค่ะ

 

1. เผยโฉม รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2554 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2554 แล้ว นั้นบัดนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบไปแล้ว โดยในรัฐบาล นายกหญิง คนแรกของประเทศไทย ได้แต่ตั้งให้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุลดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนางบุญรื่น ศรีธเรศ ดำรงตำแหน่ง รมช.ศธ.และนายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล ดำรงตำแหน่ง รมช.ศธ.

 


2. แจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป. 1

ทันทีที่เพื่อไทยขึ้นแท่นเป็นว่าที่รัฐบาลใหม่หนึ่งในสิ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้โผ ครม.คือการย้อนกลับมาดูนโยบายที่พรรคได้ใช้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ สแกนกันรายข้อแล้วมีนโยบายที่กระทบกับอุตสาหกรรมไอทีชัดเจนที่สุด คือ การแจกแท็บเล็ตให้แก่เด็ก ป..1 ทุกคน เพื่อใช้ในการศึกษาแต่ก็มิวายมีประเด็นให้ถกกันยกใหญ่ว่า การแจกแท็บเล็ตนี้ใช้งบประมาณมาก ถ้าจะแจกให้เด็กป.1 ทั่วประเทศครบต้องใช้ถึง 8แสนเครื่อง และเด็ก ป.1 เป็นวัยที่เหมาะสมแล้วหรือที่จำเป็นจะต้องใช้แท็บเล็ต นอกจากสองประเด็นนี้ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงการนำงบประมาณของประเทศไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย ผิดจุด และเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 54 นายชินภัทร ภูมิรัตนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการ One Tablet Pc per Child หรือ จัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 ตามนโยบายของรัฐบาลว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กำลังรอดูผลการเสนอขอแปรญัตติงบประมาณ 2555 ว่าที่ สพฐ.เสนอไป 6,000 ล้านบาทจะได้รับจัดสรรเท่าไร โดยในจำนวนนี้ เป็นงบจัดซื้อแท็บเล็ตชั้น ป.1 ประมาณ1,700 ล้านบาท ที่จะจัดสรรให้นักเรียนชั้น ป.1 ทุกคนและเพิ่มราคาต่อเครื่องแท็บเล็ตเป็น 6,000 บาท



3. ศธ. ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 แห่ง

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.) ว่า ที่ประชุมพิจารณายุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา มีข้อเสนอให้มีการ ยุบ เลิก หรือรวมกลุ่มสถานศึกษา (Cluster) ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการยุบ เลิก รวม ก็คือ โรงเรียนขนาดเล็กสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 7,000 แห่งเพื่อให้เหลือโรงเรียนในจำนวนที่เหมาะสม และเหลืองบประมาณจัดสรรให้แต่ละโรงเรียนได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลลดความแตกต่างในคุณภาพและมาตรฐานให้น้อยลง แต่สุดท้ายแล้ว สพฐ. ก็เลิกคิดที่จะยุบโรงเรียนเล็กเนื่องจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม แต่สพฐ. จะปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการแทน เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของชุมชน โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปวางแผนบริหารจัดการโรงเรียน ขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพ โดยจะต้องให้ชุมชน และองค์กรพัฒนาภาคเอกชน(เอ็นจีโอ)ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยทำข้อตกลงรวมถึง ช่วยทำแผนในการแก้ปัญหาด้วย

 

 

 

4. เด็ก 7 ขวบ ทำบัตรประชาชนครั้งแรก

หลังจากที่ พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 128 ตอนที่ 34 ก วันที่ 11 พ.ค. 2554 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 60 วัน คือตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 2554 เป็นต้นไป เป็นผลให้เด็กไทยอายุ ตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่ามีเด็กกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศประมาณ 8 ล้านกว่าคน และผอ.ทะเบียน กรมการปกครอง เผย สรุปภาพรวมทำบัตร ปชช. เด็ก 7 ขวบได้รับการตอบรับค่อนข้างน้อย เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ต้องเรียนหนังสือกันในวันธรรมดา อีกทั้งการประชาสัมพันธ์อาจยังน้อยเกินไป แต่เป้าหมายสำคัญ คือ ต้องการให้เด็กมาทำบัตรกันในวันหยุด ซึ่งจะได้รับความสะดวกกว่าในวันธรรมดา

 

 


5. ม.อีสาน ขายวุฒิครู

กลายเป็นอีกข่าวหนึ่งที่ฮือฮาในวงการศึกษา หลังจากนายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ ออกมาระบุว่า มหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) ได้ขายใบประกาศนียบัตรบัณฑิตให้กับนักศึกษาที่ต้องการเป็นครู (ป.บัณฑิต) จึงมีการเอาผิดผู้บริหาร รวมทั้งฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าว เพราะถือว่าผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา 265, 268 พร้อมทั้งผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และจากข่าวฉาวที่ระบุว่า มหาวิทยาลัยอีสานได้ขายใบประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครูให้นักศึกษา ก็ทำให้สภามหาวิทยาลัยสั่งพักการ ปฏิบัติงานของ ดร.อัษฎางค์ แสวงการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน ทันที รวมทั้ง ดร.นาคพล เกินชัย คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย นายทัศนะ เกตุมณี รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย น.ส.อนงลักษณ์ ชุมปลา ผู้ช่วยฝ่ายทะเบียนบัณฑิตวิทยา ลัย นายณัฎฐนันท์ บัวภา เจ้าหน้าที่ประจำบัณฑิตวิทยาลัย รวมไปถึงรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ทุกคนออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าการสอบสวนทางวินัยจะเสร็จสิ้น พร้อมกับแต่งตั้ง ศ.เกียรติคุณ ดร.สุมนต์ สกลไชย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปฎิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน

 

 

6. ผุดระบบเคลียริ่งเฮาส์ และการสอบ 7 วิชาสามัญ

ระบบเคลียริ่งเฮาส์ ถูกก่อตั้งขึ้นโดย ทปอ. หรือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เป็นระบบที่คอยรับรายชื่อ และประกาศรายชื่อเด็กว่าติดรับตรงที่ไหนบ้าง เมื่อเด็กเลือกมหาวิทยาลัยที่ติดแล้ว สอท. จะประกาศรายชื่อเด็กอีกครั้ง ให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งรับทราบ เพื่อจะได้ไม่ไปกันที่เด็กคนอื่นๆ และสทศ.ยังได้รับมอบหมายจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยให้จัดการทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำคะแนนไปใช้ประกอบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ ในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ประจาปีการศึกษา 2555โดยคะแนนสอบวิชาสามัญ 7 วิชานี้ จะใช้ในระบบรับตรงเท่านั้น ไม่สามารถใช้กับการแอดมิชชั่นกลางได้ ซึ่งบางสาขาต้องสอบทั้ง 7 วิชา เช่น กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) และบางสาขาไม่ต้องสอบทั้ง 7 วิชา โดยนักเรียนสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกวิชาสอบได้ที่ เว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัย และผลคะแนนใช้ได้เพียงครั้งเดียวในปีที่ทาการสอบเท่านั้น

 

 


7. เปิด-ปิดเทอมตรงกับอาเซียน

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประเทศไทยเลื่อนเปิดภาคการศึกษาของระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นเดือนกันยายน เพื่อให้ตรงกับประเทศอื่นในอาเซียน โดยจะมีผลบังคับใช้ ปีการศึกษา 2555ทั้งนี้ รศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุม เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่มีการเปิดการเรียนการสอน 2 ภาคเรียนการศึกษาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยของไทย แต่ช่วงเดือนเปิดของมหาวิทยาลัยนั้นไม่ตรงกัน ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา วิชาการ คณาจารย์ และให้มีความเป็นสากลมากขึ้น มหาวิทยาลัยของไทยต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนให้ตรงกับประเทศสมาชิกอาเซียน นั่นคือ ภาคเรียนที่ 1 จะเปิดปิดในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม และภาคเรียนที่ 2 เดือนมกราคม-พฤษภาคม เริ่มในปี การศึกษา 2555

 

 


8. น้ำท่วมสถาบันการศึกษาเสียหายหนัก

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้สรุปข้อมูลความเสียหายของสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกน้ำท่วม เพื่อเสนอของบประมาณจากรัฐบาล วงเงินรวม 6,764,351,350.97 บาท เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูสถานศึกษา 17 แห่ง แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 3 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรก.) 6 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 3 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 3 แห่ง และมหาวิทยาลัยชุมชน 2 แห่ง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ ม.ธรรมศาสตร์ รวมมูลค่า 2,545 ล้านบาท และ มทร.ธัญบุรี มูลค่า 1,100 ล้านบาท โดยก่อนถูกน้ำท่วมทั้ง 2 แห่งนี้ ได้มีการเปิดพื้นที่เป็นศูนย์พักพิงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย นอกจากมหาวิทยาลัยที่เสียหายจากน้ำท่วมแล้วแล้ว รมว.ศธ.ก็ได้เผยถึงส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษาว่า มีสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมแล้วทั้งสิ้น 1,969 แห่งหรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว1.3 พันล้านบาท แยกเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 62 แห่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 3 แห่ง และโรงเรียนเอกชน 7 แห่งมีโรงเรียนใน จ.พระนครศรีอยุธยาได้รับความเสียหายเบื้องต้นจำนวน 72 แห่ง

 

 

9. มอ. และ ม.บูรพา ไม่ใช้ GAT/PAT รับนศ.

เนื่องจากการเลื่อนสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1/2555 ของ สทศ. ที่ออกประกาศเลื่อนสอบถึงสองครั้งสองครา ทำให้ม.สงขลานครินทร์ ประกาศเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การพิจารณาการคัดเลือก โครงการรับตรง 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากการเลื่อนสอบ GAT PAT โดยโครงการรับตรง 14 จังหวัดภาคใต้ ม.อ. งดใช้ GAT ในการคัดเลือกฯ ในทุกคณะ/สาขาวิชา ทั้งของ ม.อ.และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่รับร่วมกับ ม.อ.และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รหัส 50201งดใช้ PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะศิลปศาสตร์ รหัส 11006และรหัส 11007 (ภาษาจีนหลักสูตรนานาชาติ)งดใช้ PAT 7.4 ภาษาจีน โดยทั้ง 2คณะจะจัดสอบเพิ่มเติมในวันสัมภาษณ์ รวมถึงมหาวิทยาลัยบูรพาก็เช่นกัน ได้ประกาศเพิ่มเติม เกี่ยวกับเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรับตรงโดย มหาวิทยาลัยจะใช้ GPAX และ GPA กลุ่มสาระแทนการใช้คะแนน GAT/PAT ในการพิจารณารับเข้าศึกษา

 

 


10. เลื่อนสอบรับตรง เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัย

เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทย ส่งผลให้ สทศ. ออกประกาศเลื่อนการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1/ 2555 เดิมจากวันที่ จากเดิมสอบวันที่ 8 - 11 ตุลาคม 2554 เลื่อนสอบเป็นวันที่19 - 20 , 26 - 27 พฤศจิกายน 2554แต่สถานการณ์อุทกภัยก็ยังมีทีท่าไม่คลี่คลายจึงมีประกาศเลื่อนสอบไปอีกเป็นวันที่ 24 -27 ธันวาคม 2554 ส่งผลให้หลายๆ มหาวิทยาลัยต้องออกประกาศเลื่อนโครงการรับตรงตามไปด้วยเพราะจะต้องใช้คะแนน GAT/PAT ประกอบการพิจารณารับนักเรียนเข้าศึกษา ตัวอย่างเช่นข่าวดังต่อไปนี้
- รับตรงจุฬาฯ (แบบปกติ) เปลี่ยนแปลงกำหนดการ ข่าวเมื่อ 17 พ.ย. 54
เปิดรับสมัครวันที่ 10-16 กุมภาพันธ์ 2555
- ตารางสอบรับตรง ม.ธรรมศาสตร์ ข่าวเมื่อ 15 พ.ย. 54
จัดสอบในวันที่ 28-30 ธันวาคม 2554
- รับตรง ม.พระจอมเกล้าธนบุรี เปลี่ยนกำหนดการอีกแล้ว!!! ข่าวเมื่อ 19 พ.ย. 54
รับตรง GAT PAT สมัครได้จนถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2554เป็นต้น


สำหรับรายงาน10 ข่าวเด่นในรอบปี 2554 ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ เรามาเอาใจช่วยกันว่าในปี 2555 จะมีอะไรเกิดขึ้นกับวงการศึกษาหรือจะเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหรือไม่ อย่างไรแล้วก็อย่าลืมติดตามข่าวการศึกษากับเรา "ศูนย์ข่าวการศึกษาไทย" เพราะเราจะร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาไปพร้อมกัน สวัสดีปีใหม่ค่ะ : )

โดยศูนย์ข่าวการศึกษาไทย

เรียบเรียงโดย อติภา พิสณฑ์

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook