ผลสำรวจชี้ วัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ ตั้งครรภ์ 1 ใน 3 เคยสวิงกิ้ง

ผลสำรวจชี้ วัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ ตั้งครรภ์ 1 ใน 3 เคยสวิงกิ้ง

ผลสำรวจชี้ วัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ ตั้งครรภ์ 1 ใน 3 เคยสวิงกิ้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สธ.รณรงค์ "รักปลอดภัย ถุงยางอนามัย .... เอาอยู่" รับวันวาเลนไทน์ปีนี้


ชี้ผลสำรวจวัยรุ่นใน กทม. พบมีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ ตั้งครรภ์ โดย 1 ใน 3 เคยสวิงกิ้ง เกือบร้อยละ 90 ไม่พกถุงยางอนามัย

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์เนื่องในวันวาเลนไทน์ประจำปี 2555ซึ่งปีนี้เน้นถุงยางอนามัย เพื่อสร้างกระแสให้สังคมตื่นตัวโดยเฉพาะเยาวชน ให้ตระหนักถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ว่าเป็นปัญหาใกล้ตัวทุกคนมีโอกาสติดเชื้อดังกล่าวได้ หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย

นายวิทยากล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยปัญหาที่สำคัญ 2 เรื่องใหญ่คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้งเอดส์ และปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เยาวชนควรเก็บเรื่องเพศสัมพันธ์ไว้จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าของตัวเอง และหากมีเพศสัมพันธ์จะต้องมีการป้องกัน โดยใช้ถุงยางอนามัยซึ่งเป็นเครื่องมือชนิดเดียวเท่านั้นที่ป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิดและการตั้งครรภ์ที่ได้ผลดีที่สุด

ล่าสุด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสวนดุสิตโพล สำรวจพฤติกรรมการใช้และการเข้าถึงถุงยางอนามัยของเยาวชน อายุ 12-24 ปี ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,014 คน พบว่าเยาวชนไทยร้อยละ 69 ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ในกลุ่มที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ระบุว่าเริ่มมีครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 14-15 ปี โดยใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 52 ข้อมูลที่สำคัญพบว่า มีเยาวชนประมาณ 1 ใน 3 เปลี่ยนคู่นอนหรือที่เรียกว่าสวิงกิ้ง ในเรื่องของทัศนคติของเยาวชนที่มีต่อถุงยางอนามัย พบเพียง ร้อยละ 43 เห็นว่าถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ได้ โดยเยาวชน ร้อยละ 89 ไม่พกถุงยางอนามัย แต่พบว่าร้อยละ 48เห็นด้วยกับการพกถุงยางอนามัยติดตัว เพราะเป็นการแสดงถึงการเตรียมพร้อม ช่วยป้องกันการติดเชื้อ การตั้งครรภ์ และช่วยลดปัญหาสังคม

กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาโดยตลอด และกำหนดยุทธศาสตร์มุ่งสู่ "เป้าหมายที่เป็นศูนย์" (Getting to Zero) ได้แก่ การไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการตายเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาคุณภาพบริการตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นมิตร ส่งเสริมให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรองและรักษาโรคที่ถูกต้องที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง มีการจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชนประมาณ 282 แห่ง ใน 43 จังหวัด และส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ถุงยางอนามัย

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในปัจจุบัน พบว่าอัตราการติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน อายุ15-19ปีจากร้อยละ17.33 ในปี2548เป็นร้อยละ19.31ในปี2553 และมีการใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ53.2 จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเยาวชนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หากไม่เร่งป้องกัน จะทำให้ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของเอดส์ระลอกใหม่

นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดงานรณรงค์ในปีนี้ จะทำพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด รักปลอดภัย ถุงยางอนามัย...เอาอยู่สำหรับกรุงเทพฯ จัดงานรณรงค์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555เวลา 11.00-18.00 น. ณลานกิจกรรม เอ็มบีเค อเวนิวชั้น 1 ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เพื่อสร้างกระแสให้สังคมตื่นตัว ตระหนักว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์เป็นปัญหาใกล้ตัว ทุกคนมีโอกาสรับเชื้อได้ หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ตลอดจนส่งเสริมให้คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงไปรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง การให้คำปรึกษาเพื่อตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ การให้บริการที่เป็นมิตรในด้านการป้องกันและดูแลรักษา การสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกต่อการซื้อ การพก และการใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเอดส์ที่ถูกต้องและเหมาะสมในวันวาเลนไทน์นี้

สำหรับกิจกรรมประกอบด้วยขบวนรณรงค์ เส้นทางการเดินเริ่มต้นจากบริเวณลานกิจกรรม เอ็มบีเค อเวนิว ชั้น 1 ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ไปสยามสแควร์ มีการจัดบูธนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ อนามัยการเจริญพันธุ์ และแอลกอฮอล์ รวมทั้งเกมส์ส่งเสริมความรู้ การแสดงก่อนบ่ายคลายเครียด และมินิคอนเสิร์ตโดยกลุ่มศิลปิน เนโกะ จั๊มพ์ และสินเจริญ บราเธอร์ส

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข http://www.moph.go.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook