น้อมคารวะอมตกวี 26 มิถุนายน 2555 "วันสุนทรภู่"

น้อมคารวะอมตกวี 26 มิถุนายน 2555 "วันสุนทรภู่"

น้อมคารวะอมตกวี 26 มิถุนายน 2555 "วันสุนทรภู่"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น้อมคารวะอมตกวี
๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ "วันสุนทรภู่"



อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แค่องค์พระปฎิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา

การติฉินนินทานั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองยังหนีไม่พ้น ฉไหนคนธรรมดาอย่างเราจะไม่ถูกนินทา (จากวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณี)

หากเอ่ยถึงบรมครูผู้เป็นเลิศในการประพันธ์บทกวีของไทย เชื่อว่าหนึ่งในรายชื่อบรมครูเหล่านั้นย่อมมีชื่อของ "สุนทรภู่" กวีเอกของไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ "องค์การยูเนสโก" ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็น บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิดของท่าน เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙ ด้วยความเป็นเลิศและความสามารถในกวีนิพนธ์ของท่านทั้งประเภทนิราศ นิทาน สุภาษิต เสภา บทละครและบทเห่กล่อม
หนึ่งในผลงานวรรณกรรมชิ้นเอกที่ได้รับความนิยมอย่างสูงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือ เรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งเป็นนิทานคำกลอน ที่มีความยาวถึง ๖๔ ตอนหรือ ๙๔ เล่มสมุดไทย ซึ่งนายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานมูลนิธิสุนทรภู่ได้เคยกล่าวไว้ว่า พระอภัยมณี ถือได้ว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก เพราะมีความยาวถึง ๑๒,๗๐๖ บทในขณะที่บทประพันธ์เรื่องอีเลียต ( Iliad) และโอเดดซี (Odyssey)ของฝรั่งที่ว่ายาวที่สุด ยังมีเพียง ๑๒,๕๐๐ บทเท่านั้น
นอกจากนั้น เนื้อหาในเรื่องยังแสดงให้เห็นถึงภูมิรู้อันไพศาล จินตนาการ อันล้ำยุคล้ำสมัย ที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด อีกทั้งยังแฝงคติสอนใจในเรื่องต่างๆ ไว้มากมายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสัจธรรมร่วมสมัยที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในยุคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
อาทิ บทกลอนสุดอมตะตอน "สุดสาครถูกชีเปลือยหลอกผลักตกเหว" แล้วลักเอาไม้เท้ากับม้านิลมังกรไป แต่พระเจ้าตามาช่วยสุดสาครหลังจากสลบไป ๓ คืน และพระเจ้าตาก็สอนสุดสาครดังกลอนบทนี้



แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ไม่เคี้ยวคดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้มีที่รักอยู่สองสถาน บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้ใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

เป็นคำสอนให้เราตระหนักว่า ใจมนุษย์นั้นยากที่จะคาดเดา จะเชื่อสิ่งใดควรคิดให้รอบคอบ

หรือ เมื่อตอนอุศเรนพ่ายแพ้ในการรบ แต่พระอภัยมณีรำลึกถึงบุญคุณครั้งเก่า จึงให้ปล่อยตัวอุศเรน นางวาลีได้เตือนพระอภัยว่า

ประเวณีตีงูให้หลังหัก มันก็มักทำร้ายเอาภายหลัง
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง แม้เสือขังเข้าถึงดงก็คงร้าย
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย จะทำภายหลังยากลำบากครัน

เป็นคำเตือนสติเราว่า เมื่อจะทำอะไรก็ต้องตัดสินใจทำโดยเด็ดขาดหรือจริงจังลงไป อย่าทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ มิฉะนั้นผลร้ายจะเกิดขึ้นได้ภายหลัง

หรือ เมื่อตอน พระอภัยมณีขอร้องสินสมุทร ให้คืนนางสุวรรณมาลีแก่อุศเรน
แล้วตรัสบอกลูกน้อยกลอยสวาท เจ้าหน่อเนื้อเชื้อชาติดังราชสีห์
อันรักษาศีลสัตย์กตเวที ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อกตัญญุตาเขา เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพล พระเวทมนตร์เสื่อมคลายทำลายยศ
เพราะบิดามาด้วยอุศเรนนี้ คุณเขามีมากล้นพ้นกำหนด
เจ้าทำผิดก็เหมือนพ่อทรยศ จงออมอดเอ็นดูพ่อแต่พองามฯ

เป็นคำสอนเราว่า การเป็นคนที่รักษาคำพูดและตอบแทนผู้มีคุณ จะเป็นคนที่น่ายกย่อง แต่หากเป็นคนที่ลืมบุญคุณคนอื่น ก็จะเป็นคนไม่ดีและจะได้รับความทุกข์ คุณงามความดีที่ทำมาก็จะสูญหายไปหมดสิ้น

ในโอกาสที่ "วันสุนทรภู่" จะเวียนมาถึง ในวันอังคารที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชน เข้าร่วมกิจกรรม "วันสุนทรภู่ กวีเอกของโลก" ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น. โดยจะมีการแสดงหุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หุ่นร่วมสมัย เรื่อง "พระอภัยมณี" จาก บ้านตุ๊กกะตุ่น หุ่นกระบอกไทย หุ่นช่างฟ้อน หุ่นสายช่อชะคราม หุ่นละครเล็ก คณะโจหลุ่ยส์ และหุ่นเงา คณะคิดบวกสิปป์ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสาธิตการแสดงหุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก หุ่นสายช่อชะคราม หุ่นเงา จากนั้นร่วมกิจกรรมเรียนรู้ดูหุ่น ปฏิบัติ และประดิษฐ์หุ่นอย่างง่ายๆ และชมนิทรรศการ "วันสุนทรภู่" เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีตาแด่สุนทรภู่ ซึ่งเป็นครูภาษาไทยที่ทุกคนควรเคารพยิ่ง อีกทั้งยังได้เรียนรู้ สืบสาน และเผยแพร่กวีนิพนธ์อันแสดงถึงอัจฉริยะและความสามารถของท่านในด้านกวีนิพนธ์อันเป็นเอกลักษณ์ของท่านสืบไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ๐๒ ๒๔๗ ๐๐๒๘ ต่อ ๔๑๖๔ หรือ www.culture.go.th

- ประวัติสุนทรภู่

- สุนทรภู่ จินตกวีเอกของไทย และของโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook