Keith Haring ศิลปินแห่งความรัก

Keith Haring ศิลปินแห่งความรัก

Keith Haring ศิลปินแห่งความรัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครบรอบวันเกิด 54 ปี Keith Haring ศิลปินแห่งความรัก logo google วันนี้ 4 พ.ค. 55

ประวัติ Keith Haring เป็นศิลปินชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 ที่เมือง Reading มลรัฐ Pennsylvania ในระหว่างปี ค.ศ. 1976-1978 เขาเข้าเรียน graphic design ที่ The Ivy School of Professional Art พออายุได้ 19 ปีก็ย้ายมาอยู่ที่กรุง New York และเข้าเรียนศิลปะที่ School of Visual Arts


Keith Haring สนใจการวาดภาพในที่สาธารณะ (public art) มาก เขาชื่นชมการนำเสนอผลงานของ Christo ศิลปินนักห่อ เริ่มต้นชีวิตการเป็นศิลปินด้วยการวาดภาพในสถานีรถไฟใต้ดิน วันหนึ่งเมื่อเขาลงรถไฟใต้ดินในกรุง New York แล้วเห็นผนังปิดด้วยกระดาษสีดำด้านรอคนเอาแผ่นโฆษณามาติด เขาจึงใช้ชอล์คสีขาววาดภาพ ช่วงแรกเขาวาดภาพคนแปลกๆก่อน ต่อมาจึงวาดภาพเด็กกำลังคลานมีเส้นรัศมีพุ่งออกมารอบตัวที่ต่อมามีชื่อเรียกเด็กคนนี้ว่า radiant baby จากนั้น radiant baby ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของ Keith Haring ไป

วิธีการวาดภาพของ Keith Haring นั้นง่ายมาก เขาวาดโดยใช้เส้นโค้งมน สีสันสดใส ตัวคนกระโดดโลดเต้น ท่าทางมีความสุข คนเหล่านั้นไม่มีหน้าตา ไม่มีเพศ ไม่มีอายุ ไม่มีเชื้อชาติ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมวลมนุษยชาติ


ปี ค.ศ. 1980-1985 วาดภาพในสถานีรถไฟใต้ดินเป็นร้อยๆภาพ ศิลปะแบบนี้เรียกว่า subway drawings ภาพวาดของเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของชาว New York เป็นสิ่งที่ชาว New York คุ้นเคยและสนใจ ยามใดที่เขากำลังวาดภาพอยู่ก็จะมีผู้คนจำนวนมากหยุดมุงดูด้วยความสนใจ สถานีรถไฟใต้ดินจึงกลายเป็นห้องทำงานของ Keith Haring โดยปริยาย

ปี ค.ศ. 1980-1989 Keith Haring เป็นที่รู้จักของต่างชาติ เขามีโอกาสเข้าร่วมการแสดงผลงานศิลปะระดับชาติและระดับนานาชาติหลายครั้งทั้งในการแสดงผลงานกลุ่มและการแสดงผลงานเดี่ยว การแสดงผลงานเดี่ยวหนแรกเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1981 ที่ Westbeth Painters Space ในกรุง New York และต่อมาเขาก็ได้แสดงที่ Tony Shafeazi Gallery ในกรุง New York เช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว Keith Haring ยังเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งเพื่อแสดงผลงาน เขาวาดภาพบนกำแพงที่ Melbourne ประเทศ Australia วาดฝาผนังของโรงพยาบาลเด็ก Necker ในกรุง Paris วาดเสื้อให้เพื่อนสนิท Madonna ใส่แสดงใน music video เพลง Like A Virgin ออกแบบนาฬิกาให้ Swatch และทำโฆษณาให้กับ Absolute Vodka

Keith Haring เปิดร้าน Pop Shop ในย่าน Soho เมื่อปี ค.ศ. 1981 เพื่อขายผลงานของตัวเองเช่น เสื้อยืด แม่เหล็ก เข็มกลัด ในราคาถูกเพราะเขาต้องการให้คนเข้าถึงผลงานของเขาได้ง่าย Keith Haring ลงทุนวาดผนังร้านด้วยตัวเอง ร้านถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบมากมายแต่ก็ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความตั้งใจดีของเจ้าของและด้วยแรงสนับสนุนจากเพื่อนศิลปินเช่น Andy Warhol


ตลอดเวลาของการทำงาน Keith Haring อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับการวาดภาพในที่สาธารณะ ในระหว่างปี ค.ศ. 1982-1988 เขาวาดภาพในที่สาธารณะกว่า 50 แห่ง ใน 12 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่ทำเพื่อการกุศล ช่วยเหลือเด็กกำพร้า เด็กในสถานดูแลพิเศษ ผลงานส่วนหนึ่งคือการวาดภาพบนกำแพงในกรุง New York, Melbourne, โรงพยาบาลเด็ก Necker ในกรุง Paris

นอกจากนี้แล้ว เขายังสอนวาดรูปให้กับเด็กๆโดยจัดชั้นเรียนพิเศษขึ้นในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก เช่นพิพิธภัณฑ์ที่ New York, Amsterdam, London, Tokyo, และที่เมือง Bordeaux ในประเทศฝรั่งเศส

Keith Haring ป่วยด้วยโรค aids เมื่อปี ค.ศ.1988 เมื่อทราบว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานเขาก็รีบทำสิ่งที่ตัวเองรัก เริ่มด้วยการตั้งมูลนิธิ The Keith Haring Foundation เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและผู้ป่วยโรค aids เขาเร่งผลิตงานออกมาจำหน่ายมากมายใน Pop Shop เช่นของที่ระลึกต่างๆ รวมทั้งขายสิทธิการหาประโยชน์ในผลงานจำนวนมากของเขาเพื่อหาเงินเข้ามูลนิธิ


Keith Haring ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1990 ขณะมีอายุได้เพียง 31 ปี ผลงานส่วนใหญ่ของ Keith Haring เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกิด ความรัก ความผูกพัน ความสัมพันธ์ทางเพศ และในช่วงหลังเริ่มมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ภาพวาดง่ายๆ สีสันสดใส ไม่จำกัดวัยผู้ชมและไม่มีกาลเวลา ทำให้ภาพวาดของ Keith Haring ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นจำนวนมากตลอดเวลา 20 ปีเศษที่ผ่านมา รายได้ก็ยังคงไปที่ The Keith Haring Foundation เพื่อใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์เดิมที่เจ้าของได้วางเอาไว้ ภาพวาดที่สวย น่ารัก ดูแล้วมีความสุข ส่งให้คนรักก็ต้องชอบ ศิลปินเจ้าของผลงานมีจิตใจดี แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เป็นศิลปินสำหรับวันแห่งความรักไปได้อย่างไร

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.prachachat.net

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://guru.sanook.com/pedia/topic/Keith_Haring/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook