ปฏิบัติการกอบกู้ "หนังสือจากกองขยะ" มาทำ "ห้องสมุด" อันเป็นที่รักของคนตุรกี

ปฏิบัติการกอบกู้ "หนังสือจากกองขยะ" มาทำ "ห้องสมุด" อันเป็นที่รักของคนตุรกี

ปฏิบัติการกอบกู้ "หนังสือจากกองขยะ" มาทำ "ห้องสมุด" อันเป็นที่รักของคนตุรกี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

book1

กลุ่ม ‘คนเก็บขยะ’ ในกรุงอังการา ประเทศตุรกี เดินหน้าชุบชีวิตให้กับหนังสือที่กำลังดำดิ่งสู่ขุมนรกกระดาษเหลือใช้ ด้วยการจัดทำเป็นโครงการ ‘ห้องสมุด’ เพื่อต่อลมหายใจให้หนังสือฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง

หลายคนอาจไม่คิดอะไรมาก เมื่อต้องโยนหนังสือเข้ากองขยะเวลาเก็บกวาดบ้าน แต่สำหรับคนรักหนังสือแล้ว การกระทำดังกล่าวคงเป็นเรื่องที่ทำใจยากสักหน่อย โดยเฉพาะกับกลุ่ม ‘คนเก็บขยะ’ ในกรุงอังการา ประเทศตุรกี ซึ่งกำลังเดินหน้าช่วยให้หนังสือในกองขยะไม่ต้องดำดิ่งสู่ขุมนรกกระดาษเหลือใช้อีกต่อไป ด้วยการจัดทำนโยบายห้องสมุดคอนเซปต์ไม่ธรรมดา เพื่อต่ออายุขัยให้กับหนังสืออีกครั้ง

แนวคิด ‘ห้องสมุด’ จาก ‘หนังสือถูกทิ้ง’ เกิดจากกลุ่มคนเก็บกวาดขยะของเมืองอังการา ซึ่งร่วมมือกันกอบกู้หนังสือนับพันเล่มที่หลายคนทิ้งมากับบรรดาขยะอื่นๆ โดยจุดเริ่มต้นของไอเดียอยู่ที่การส่งต่อหนังสือให้กับนักอ่านคนอื่นๆ เพื่อช่วยให้หนังสือดีๆ ไม่ต้องปิดฉากชีวิตด้วยการจมลงบ่อถมขยะไปเสียก่อน

สำหรับ ‘ห้องสมุดหนังสือเหลืออ่าน’ ตั้งอยู่บริเวณโรงงานทำอิฐเก่าที่ทิ้งร้างมานานกว่า 20 ปี ก่อนปรับปรุงให้เป็นจุดพักของบรรดาคนเก็บกวาดขยะ และเสริมด้วยโครงการห้องสมุดที่บรรจุหนังสือกว่า 4,750 เล่ม ซึ่งใช้เวลาเก็บสะสมอยู่นานกว่า 7 เดือน นอกจากนั้น ภายในตัวอาคารยังได้รับการปรับปรุงให้มีชีวิตชีวาด้วยร้านตัดผม ร้านกาแฟ พื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่ส่วนสำนักงานด้วย

เดิมทีห้องสมุดมีจุดประสงค์หลักคือ เปิดบริการแก่กลุ่มคนเก็บกวาดขยะ และสมาชิกในครอบครัว โดยสามารถยืมหนังสือต่างๆ กลับไปอ่านได้เป็นเวลาสูงสุด 15 วัน จากนั้น เอมิราลิ อูร์เทคอิน (Emirali Urtekin) ผู้จัดการห้องสมุด ก็ตัดสินใจเปิดสถานที่สู่สาธารณชน และแน่นอนว่า ภายในห้องทำงานของเขาก็เต็มไปด้วยนิตยสาร พร้อมสรรพด้วยเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นคุณปู่

 905542136

“ยังมีหนังสืออีก 1,500 เล่มที่รอคอยการบรรจุขึ้นชั้น ทั้งจากที่เราเก็บมาและที่ได้จากการบริจาค” อูร์เทคอิน กล่าวเสริม

ในส่วนของการจัดแบ่งหมวดหมู่หนังสือ ทางสำนักงานแยกเป็น 17 ประเภท และมันกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันสามารถเลือกอ่านกันได้ตั้งแต่นิยายโรแมนติก นิยายระทึกขวัญ หนังสือเศรษฐศาสตร์ นิทานสำหรับเด็กๆ รวมทั้งหนังสือจากนักเขียนชื่อดังทั้งในประเทศ และนอกประเทศ อาทิ เจ.เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) ชาลส์ ดิกคินส์ (Charles Dickens) เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน (J.R.R. Tolkien) ออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) ไปจนฟิฟตี้ เชดส์ ออฟ เกรย์ (Fifty Shades of Grey) ของ อี. แอล. เจมส์ (E.L. James)

นอกเหนือจากนั้น ห้องสมุดของคนเก็บขยะยังมีบรรณารักษ์ที่ได้รับการจ้างงานจากทางเทศบาลเมือง เพื่อคอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการ พร้อมกับจัดตั้งให้เป็นสถานที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นต้นแบบห้องสมุดเพียงแห่งเดียวของพื้นที่ที่เปิดให้กับสาธารณชน

อิเรย์ เยลมาซ (Eray Yilmaz) บรรณารักษ์วัย 20 ปี เสริมว่า ปัจจุบันมีหนังสือกว่า 147 เล่มถูกยืมออกไปจากห้องสมุด และมีสมาชิกจำนวนกว่า 700 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวส่วนมากจะเป็นคนงานเก็บขยะของเขตชานกายา เมืองอังการา

“การอ่านช่วยพัฒนาสติปัญญา ส่งเสริมความคิดใหม่ๆ และเราได้นำสิ่งเหล่านั้นจากหนังสือไปสู่ผู้คน มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจมากๆ ผมเองก็ยังยืมหนังสือไปให้คุณแม่เลย” บรรณารักษ์กล่าวด้วยความกระตือรือร้น

ทางด้าน มาลิก เออร์แคน (Malik Ercan) หนึ่งในพนักงานผู้พิการกล่าวว่า เขาก็เป็นผู้หนึ่งที่ยืมหนังสือกลับบ้านอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งหนังสือยังช่วยขยายขอบเขตไปไกลไปมากกว่าเพียงแค่เมืองๆ หนึ่ง

“เมื่อเร็วๆ นี้ ผมยืมหนังสือไปให้ลูกพี่ลูกน้องที่มาจากเมืองซิวาส (จังหวัดทางตอนกลางของตุรกี) เพราะเขาเคยได้ยินมาจากข่าว และเขาอยากจะเห็นมันสักครั้ง หลังจากนั้น เพื่อนๆ ของผมก็เริ่มทยอยมา” เออร์แคน กล่าว

หลังจากการเปิดตัวห้องสมุดของคนเก็บขยะโด่งดังไปไกลระดับสากล ส่งผลให้มีหนังสือบริจาคจากทั่วทุกมุมโลก บางคนในเมืองอื่นๆ ของตุรกีก็ยอมจ่ายค่าไปรษณีย์ เพื่อส่งหนังสือมาให้กับทางห้องสมุด แต่เหล่าคนเก็บขยะก็ยังคงเดินหน้าคัดสรรหนังสือจากขยะเหลือใช้ต่อไป

“เราไม่เพียงแต่จะได้ผู้เข้ามาเยี่ยมชม แต่ยังรวมถึงเงินบริจาคด้วย พวกเขายืนยันหนักแน่นว่า นี่เป็นโครงการที่ดี และพวกเขาก็อยากสนับสนุน เพราะเราได้ทำสิ่งที่เป็นการต่ออายุหนังสือที่ถูกมองข้าม รวมถึงหนังสือเหล่านี้ก็หาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ” ผู้จัดการห้องสมุดยืนยัน

แม้ทางโครงการยังไม่มีแผนการขยับขยายพื้นที่ แต่มันก็เป็นแรงส่งสำหรับโครงการอื่นๆ โดยทางผู้ดูแลได้เปิดเผยกับทางสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ในอนาคตจะจัด ‘ห้องสมุดเคลื่อนที่’ ไปตามโรงเรียนต่างๆ ทุก 15 วัน เพื่อส่งมอบหนังสือให้เด็กๆ ได้เข้าถึง เพราะบางโรงเรียนขาดแคลนห้องสมุด หรืออาจมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และทางโครงการยังมีการแสดงดนตรีของกลุ่มทิน กรุ๊ป (Tin Group) อันเกิดจากการรวมตัวของพนักงานเก็บกวาดขยะที่นำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นเครื่องดนตรี ซึ่งกลุ่มดังกล่าวก็เริ่มต้นมาพร้อมๆ กับโครงการห้องสมุดแห่งนี้

“ในตอนนี้พวกเรามีความสุขมากครับ เพราะมันช่วยสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับพวกเราจริงๆ” ผู้จัดการห้องสมุดกล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook